โพสต์โดย : Admin เมื่อ 29 มิ.ย. 2562 06:32:34 น. เข้าชม 166414 ครั้ง
โรงเรียนบ้านขุนสมุทร ประสบปัญหาขาดแคลนครู ส่งผลให้ผู้ปกครองในพื้นที่ไม่ส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือ เพราะไม่เชื่อมั่นว่าจะสอนให้เด็กๆ อ่านออกเขียนได้ จึงนิยมไปเรียนในเมือง ครูวอนรัฐบาลจ้างครูเพิ่ม และหวังโรงเรียนกลับมาคึกคักอีกครั้ง
โรงเรียนบ้านขุนสมุทร จ.สมุทรปราการ มีสถานะตั้งอยู่กลางเกาะ เพราะทางเข้า-ออก รายล้อมด้วยทะเลและคลอง ไม่มีถนนตัดผ่าน จะสัญจรทีต้องมีเรือพาย เรือเครื่อง ต่อด้วยการเดินเท้าหรือปั่นจักรยาน นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ ครูและผู้อำนวยการโรงเรียน หลายคนทำเรื่องย้ายออกไป เพราะไม่สะดวกเรื่องการเดินทาง
เดิมที โรงเรียนบ้านขุนสมุทร รองรับเด็กได้เกือบ 200 คน แต่ทุกวันนี้เหลือไม่ถึง 10 คน เพราะเด็กย้ายไปเรียนในเมือง ประเด็นนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ปกครองอาจไม่มั่นใจ หมดความศรัทธากับการสอนตั้งแต่ราว ๆ ปี 2560 เพราะพบเด็กหลายคนเริ่มอ่าน-เขียนไม่คล่อง จึงสมัครใจยอมจ่ายค่าเดินเรือ ค่ารถ ค่าเดินทางเพิ่มขึ้น เพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีของลูกหลาน
แต่เด็กที่อยู่ในสถานะบ้านมีรายได้น้อย อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ยังต้องเรียนอยู่ที่นี่ เพราะการโดยสารเรือไปเรียนในเมือง แต่ละครั้งมีราคาที่ต้องจ่ายวันละหลายบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น ไหนจะเรื่องความปลอดภัย ผู้ปกครองเป็นห่วง จำเป็นต้องนั่งเรือไปดูแลรับ-ส่ง ทุกเช้า-เย็น
ทุกวันนี้ โรงเรียนบ้านขุนสมุทร มีนักเรียนชั้นอนุบาล 1 คน / ป.1 - 2 คน / ป.2 - 1 คน / ป.4 - 1 คน และ ป.6 - 1 คน รวมทั้งหมด 6 คน
น.ส.นันทวรรณ เข่งสมุทร ครูฝ่ายธุรการ และเป็นศิษย์เก่าที่นี่และเติบโตมากับชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน เสนอให้ สพฐ. คืนครูสู่ห้องเรียน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นผู้ปกครองกลับคืนมา เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาประชากรในทะเบียนราษฎร์ เริ่มไม่ส่งลูกมาเรียนที่นี่ เพราะเกรงว่าลูกหลานจะอ่านเขียนไม่ได้ พัฒนาการช้า เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษา
“เด็กน้อยลงตั้งแต่ปี 2560 อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณจ้างครูอีกสักคน เพราะครูจำเป็นที่สุดกับพวกเขาในตอนนี้ อยากให้พวกเขาอ่านออก เขียนได้ ”
ผลกระทบนี้ คล้ายโซ่ตรวนที่ผูกโยงกันและอาจแก้ไม่ง่าย เพราะ สพฐ. ประเมินว่า ครู 1 คน สอนเด็ก 20 คน เพียงพอแล้ว ทำให้การทำเรื่องขออัตราครูเพิ่มมายังโรงเรียนบ้านขุนสมุทร เพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญ ไม่เคยสำเร็จและเรื่องเงียบ
น.ส.มยุรีย์ คนเจน ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า ครู 1 คน ต้องสอน 8 กลุ่มสาระวิชา สอนเด็กทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาที่ 6 ผลกระทบที่ครูโรงเรียนบ้านขุนสมุทร ต้องเผชิญคือ ต้องเดินสอนทุกห้อง วนไปมาทุกชั่วโมง อาจทำให้ความเอาใจใส่ใจเด็ก อาจมีปัญหาในบางครั้ง
“ครู 1 คน เราสอนไม่ทัน สอนไม่ครบหลักสูตร ผลที่ตามมา เด็กของเราอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ มันจะส่งผลตามไป เมื่อพวกเขาไปศึกษาต่อข้างนอก”
วิธีแก้ของที่นี่ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูฝ่ายธุรการ รวมทั้งป้า ๆ แม่ครัว ต้องมาช่วยสอนบ้างบางเวลา แต่ความจริงแล้วพวกเขาอยากได้ครูเพิ่มสัก 1 คน ก็ดีต่อใจแล้ว
ดูสภาพโรงเรียนบ้านขุนสมุทร ตัวอาคารสมบูรณ์ครบครัน หากมีเด็กในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน เดินเท้า นั่งเรือมาเรียนที่นี่กัน คงงามตาไม่น้อย และเด็ก ๆ ไม่ต้องไปไกลบ้านมาก ได้อยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้วิถีท้องถิ่น ซึมซับตั้งแต่เล็ก
ที่ผ่านมา ครูนันทวรรณ เล่าว่า นักท่องเที่ยว หน่วยงาน มาบริจาคของ บริจาคเงิน บำรุงโรงเรียน มากมาย แต่เรื่องเด็กนักเรียน อัตรากำลังครูคุณภาพการศึกษา กลับไม่ค่อยถูกพูดถึง จึงอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยดูแล เรียกความศรัทธาให้ที่นี่เป็นโรงเรียนสร้าง “คนบ้านขุนสมุทรจีน” ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกหลานไปเรียนที่อื่นตั้งแต่ยังเล็ก
ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางเข้าไปยังโรงเรียน ต้องจอดรถที่ท่าเรือป้าลี่ ต่อเรือเหมา 100 บาทต่อรอบ คนต่อไปคิด 10-20 บาท และเดินเท้าต่อ ผ่านคันดินนากุ้งอีกเกือบ 1 กิโลเมตร กว่าจะถึงโรงเรียน จนไปเจอเด็ก 4 คน ยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ ทั้งน่ารัก น่าสงสาร
แม้การยุบโรงเรียนจะมีหลายขั้นตอน ต้องผ่านกระบวนการหารือมาก แต่หากยังเป็นแบบนี้ ที่นี่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง และมาตรฐานการสอนจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาอย่างไร
ณิชาภัทร อินทรกล่อม รายงาน