โพสต์โดย : Admin เมื่อ 20 ก.ค. 2560 14:58:12 น. เข้าชม 166426 ครั้ง
สพฐ.วิจัยอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ชี้ใช้มา10ปีแล้ว ได้รับเงินไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐ เสนอปรับเพิ่มให้เด็กยากจน
วันนี้ (19ก.ค.) ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดงานสภาการศึกษาเสวนา ครั้งที่ 20 เรื่อง "ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา : บทเรียนจากประเทศไทยและนานาชาติ" โดย นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ให้แก่นักเรียน จำนวน 6.2 ล้านคน โดยจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งนี้ ในส่วนของค่าใช้จ่ายภาครัฐตามโครงการเรียนฟรี 15ปี ซึ่งได้กำหนดอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนต่อคนต่อปี ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอัตราที่ใช้มานานถึง 10ปีแล้ว ขณะที่รัฐมีนโยบายสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพผู้เรียน ส่งผลให้เงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับและนโยบายไม่ไปพร้อมกัน ดังนั้น สพฐ.จึงได้ร่วมกับยูนิเซฟ และ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการการสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐของโครงการเรียนฟรี 15ปีในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เงินอุดหนุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากข้อค้นพบสำคัญที่ได้จากการสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐของโครงการเรียนฟรี 15 ปี ในประเทศไทย เกี่ยวกับความเห็นครู ผู้บริหาร 2,463 คน ผู้ปกครอง 2,500 คน ในโรงเรียน 250 แห่ง ครอบคลุม 24 เขตพื้นที่การศึกษา พบว่า สพฐ.โอนเงินโครงการเรียนฟรี 15 ปี ถึงโรงเรียนโดยตรง แต่พบปัญหาการได้รับล่าช้า เช่น งบฯจัดซื้อหนังสือล่าช้าเฉลี่ยหลังเปิดเรียน 24 วัน ขณะที่โรงเรียนในเขตเมืองจ่ายค่าหนังสือสูงกว่าโรงเรียนในชนบท โรงเรียนมีความล่าช้าในการแจกอุปกรณ์การเรียนประมาณ 37 วันในภาคเรียน2 และ 17 วันในภาคเรียนแรก ส่วนเงินอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนกว่า ร้อยละ 95 แจกเป็นเงินสด และไม่เพียงพอสำหรับ 2ชุด และงบฯด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นั้นโรงเรียนจัดได้ไม่ครบต้องขอเพิ่มจากผู้ปกครอง อีกทั้ง พบว่าสถานศึกษามีงบฯจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี ที่ยังใช้ไม่หมด มากถึงร้อยละ 20 ของเงินที่ได้รับ ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้ใช้เงิน อาจเนื่องจากระบบบัญชีโรงเรียนอ่อน หรือขาดประสบการณ์ในการจัดการทางการเงิน ขณะที่เขตพื้นที่ฯลงพื้นที่สำรวจโรงเรียน 1 ครั้งต่อปี เท่านั้น
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวต่อไปว่า จากผลการสำรวจมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน จัดสรรเงินให้ถึงตัวเด็กโดยตรง ปรับปรุงวิธีคัดกรองและช่วยเหลือเด็กยากจน ปรับปรุงระบบบัญชีโรงเรียน ยกระดับบทบาทและความรับผิดชอบการกำกับดูแลของเขตพื้นที่ฯ และควรให้ข้อมูลเรียนฟรี 15 ปีให้แก่ครอบครัวนักเรียนมากขึ้น รวมทั้งยกระดับความรับผิดชอบของโรงเรียน โดยเปิดเผยข้อมูลงบฯและผลการเรียนของเด็กต่อชุมชนและผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนผู้บริหาร และครูแสดงความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานมากขึ้น
ด้าน ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเห็นว่าเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กยากจน แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะได้รับงบฯการศึกษาสูงสุด คิดเป็น 1 ใน 5 ของงบฯแผ่นดินก็ตาม ซึ่งตนหวังให้ส่วนกลางจัดสรรเงินให้แก่เขตพื้นที่ฯและโรงเรียนโดยตรงมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราบริหารงานตามกระแส โดยไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุน แต่ขณะนี้เรามีนักวิชาการที่ทำวิจัยด้านค่าใช้จ่ายการศึกษา เป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 2 คน ซึ่งมีข้อมูลต่างๆมากมาย จึงคาดหวังว่าภายใน 2 ปีจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ที่ชัดเจน.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2560 เวลา 15.14 น.
อ่านต่อ http://www.kroobannok.com/82465