โพสต์โดย : Admin เมื่อ 10 ส.ค. 2564 03:01:22 น. เข้าชม 166343 ครั้ง
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป สพฐ.ประจำปี 2564 รับสมัครวันที่ 4-10 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีผู้สมัครกว่า 1.7 แสนรายนั้น ขณะนี้ไม่สามารถจัดสอบได้ตามกำหนด ซึ่งเดิมกำหนดสอบ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 17 กรกฎาคม สอบภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ วันที่ 18 กรกฎาคม ประกาศรายชื่อผู้ผ่านภาค ก และ ข เพื่อสอบภาค ค วันที่ 30 กรกฎาคม สอบภาค ค ประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ และแฟ้มสะสมงาน ตามวันเวลาที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กำหนด เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งยังไม่คลี่คลาย
ดร.อัมพรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาดังกล่าว ส่วนจะให้สอบออนไลน์ตามข้อเสนอของนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) หรือไม่นั้น คงทำไม่ได้ เพราะอาจทำให้เกิดข้อครหาเรื่องทุจริตการสอบ อีกทั้ง ระเบียบต่างๆ ไม่รองรับ หากเร่งรีบดำเนินการ อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ภายหลัง
“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักเช่นนี้ คงไม่สามารถสอบได้ และ สพฐ.คงไม่กล้าจัดสอบออนไลน์ เพราะกังวลข้อครหาเรื่องการทุจริต ดังนั้น ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ส่วนจะเลื่อนไปสอบปี 2565 หรือไม่นั้น ไม่สามารถบอกได้ ต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่หากจัดสอบได้ สพฐ.จะสอบให้เร็วที่สุด เพราะปัญหาเรื่องขาดแคลนครูยังมีอยู่” ดร.อัมพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลการรับสมัครครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 4-10 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีผู้สมัครทั้งสิ้น 175,403 ราย คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดรับ จำนวน 76 แห่ง ใน 75 กลุ่มวิชา ตำแหน่งว่างรวม 11,877 อัตรา จังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ นครราชสีมา 12,594 ราย ชลบุรี 7,308 ราย กรุงเทพฯ 6,793 ราย ตาก 6,402 ราย และเชียงราย 5,682 ราย ส่วนสาขา/วิชา ที่มีผู้สมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ปฐมวัย/การศึกษาปฐมวัน/อนุบาลศึกษา 22,405 ราย สังคมศึกษา 19,810 ราย คอมพิวเตอร์ 17,931 ราย พลศึกษา 17,587 ราย และวิทยาศาสตร์ทั่วไป 14,428 ราย