โพสต์โดย : Admin เมื่อ 21 ก.ค. 2562 13:23:45 น. เข้าชม 166570 ครั้ง
วันที่ 19 ก.ค. จากกรณีที่มีนักสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ได้โพสต์เรื่องราวของครูคนหนึ่งซึ่งเป็น ครูข้ามเพศ ได้ถูกผู้บริหารกดดันและกลั่นแกล้ง เพียงเพราะแต่งหญิงมาสอนหนังสือ ถึงขั้นไม่ให้ผ่านประเมินเพื่อบีบให้ออกจากราชการ
ครูบอล เปิดใจผ่าน ข่าวสดออนไลน์ ว่า ได้สอบเข้าบรรจุเป็นครูผู้ช่วยที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.นางรอง ตั้งแต่เดือน ต.ค.2561 โดยวันแรกก็แต่งกายด้วยชุดข้าราชการเป็นแบบกางเกงไปรายงานตัวกับทางโรงเรียน แต่ต่อมาก็ได้แต่งกายตามเพศสภาพของตัวเอง คือ ใส่กระโปรง และไว้ผมยาว ไปสอนหนังสือที่โรงเรียน เนื่องจากคิดว่าไม่ได้เสียหายอะไร เพราะกระโปรงที่ใส่ก็เป็นกระโปรงยาวคลุมเข่า ส่วนผมก็มัดรวบเรียบร้อย
ตอนที่สอบบรรจุครูผู้ช่วยก็ไม่ได้มีกฎระเบียบหรือข้อห้ามเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพ แต่กลับถูกผู้บริหารโรงเรียนเรียกไปตำหนิให้เปลี่ยนการแต่งกายใหม่เป็นแบบผู้ชาย ใส่กางเกง และตัดผมสั้น ถึงแม้ครูสาวข้ามเพศพยายามจะอธิบายหรือให้เหตุผลอะไรทางผู้บริหารก็ไม่รับฟัง ถึงขั้นบังคับการครูทำข้อตกลงกับทางโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกาย แต่พอครูไม่ยอมเซ็นในเอกสารข้อตกลง ก็หาว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา
ทั้งยังถูกกลั่นแกล้งสารพัด เช่น พูดจาเสียดสี ล้อเลียน หากมีงานกิจกรรมนอกโรงเรียนไม่ต้องไปด้วยเพราะอายและไม่มีใครยอมรับ และกล่าวหาว่าประพฤติตัวไม่เหมาะสม จนนำไปสู่ผลการประเมินครูผู้ช่วยครั้งแรกทำให้คะแนนไม่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนด และหากประเมินครั้งที่ 2 คะแนนไม่ผ่านอีก ก็จะพ้นจากสถานการณ์เป็นข้าราชการครูทันที จึงถือการกระทำดังกล่าวเป็นการกดดันให้ออกจากราชการ เพียงเพราะเป็นครูข้ามเพศ
ครูบอล ยังกล่าวทั้งน้ำตาอีกว่า กว่าจะสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ต้องขยันอ่านหนังสือ และต่อสู้กับอะไรหลายๆ อย่าง แต่พอได้บรรจุกลับมาถูกกดันและบีบให้ออกจากราชการ เพียงเพราะตนเองเพศครูข้ามเพศ และแต่งกายตามเพศสภาพเท่านั้น ก็อยากจะวอนขอเป็นธรรมจากทางโรงเรียน และต้นสังกัดได้พิจารณากรณีให้แต่งกายตามเพศสภาพได้ ไม่ควรจะปิดกั้น เพราะไม่ได้ทำอะไรเสียหาย
ที่สำคัญไม่ควรจะละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และคิดว่าไม่ใช่ตัวเองเพียงคนเดียวที่เจอแบบนี้ แต่อาจจะไม่กล้าออกมาเปิดเผยเพราะกลัวจะกระทบหน้าที่การงาน และอยากให้กรณีของตัวเองเกิดการจุดประกาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะอยากให้สังคมมองถึงความรู้ความสามารถ และการกระทำของตัวบุคคลมากกว่าจะมองแค่เรื่องเพศสภาพเท่านั้น