โพสต์โดย : Admin เมื่อ 11 ส.ค. 2564 11:47:46 น. เข้าชม 166368 ครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสะท้อนความเห็นต่อแนวคิดการให้หยุดเรียน 1 ปี ขณะที่ผู้ปกครองซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
รศ.น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เพื่อความเสมอภาค เจ้าของแนวคิดการให้หยุดเรียน 1 ปี กล่าวว่า การเรียนที่มันไม่เหมือนการเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กจะเกิดความเหลื่อมล้ำ การเรียนรู้ไม่ได้ โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันสูงมาก เดิมโรงเรียนในชนบทกับโรงเรียนในเมืองก็มีความเหลื่อมล้ำกันพอสมควรแล้ว ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น หรือถ้าจะปล่อยไปปีที่ 3 หรือปีที่ 4 แล้วจะปล่อยไปแบบนี้หรือไม่อันนี้คือคำถามที่ผมตั้ง ชวนให้คิดอยู่ แต่ถ้าสถานการณ์มันดีขึ้นก็ไม่ขัดข้องอะไรกับเรื่องการเรียนออนไลน์หรือกลับไปยังชั้นเรียน เพราะฉะนั้นจะต้องคิดเตรียมไว้สำหรับปี 65
ขณะที่ รศ.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย ที่เคยทำวิจัยเก็บตัวอย่าง 44 จังหวัด เด็กปฐมวัยกว่า 12,000 คนและครูอีกกว่า 1,200 คน พร้อมเสนอให้พิจารณาเป็นพื้นที่ถ้าพื้นที่ห่างไกลเปิดเรียนได้ และสอนชดเชยช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์
นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กที่ได้เรียนพิเศษทักษะทางวิชาการจะหายไปมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เพราะ COVID-19 จึงทำให้เขาไม่ได้เรียนนั่นคือเหตุผลว่า คนที่มีฐานะมากกว่าทักษะแบบนั้นจึงหายไปมากกว่า
ขณะที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้หากจะให้นักเรียนหยุดเรียน 1 ปี เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี
เช่นเดียวกับ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ที่ไม่เห็นด้วยกับหยุดเรียนทั่วประเทศ พร้อมมองว่า แนวคิดนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา จะต้องเรียนรู้ ปรับตัวการทำงานในยุคชีวิตวิถีใหม่
ขณะที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าการเรียนออนไลน์ แม้จะมีปัญหาแต่อย่างน้อยนักเรียน แต่ละระดับชั้นยังมีโอกาสเขาถึงระบบการเรียนการสอนแม้จะไม่เต็มที่
ขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนในระดับชั้นอนุบาลใน จ.มหาสารคาม ไม่เห็นด้วยหากมีคำสั่งหยุดเรียนทั้งระบบเป็นเวลา 1 ปี เพราะจะทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ แม้การเรียนออนไลน์จะไม่ได้รับความรู้เต็มที่ แต่อย่างน้อยยังมีคลิปการสอนของครูและแบบฝึกหัดซึ่งเป็นแนวทางให้ได้ฝึกฝน
ขณะที่ ผู้ปกครองใน จ.ยะลา เห็นด้วยกับการหยุดเรียนเพราะการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบทุกวันนี้ ยังไม่ได้เหมาะกับทุกคน ทั้งนี้ ผู้ปกครองบางส่วน อยากให้ภาครัฐกำหนดรูปแบบการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 ให้เหมาะกับบริษท ทางสังคมและสภาพพื้นที่เพื่อไม่ให้นักเรียนเสียโอกาสทางการศึกษา