โพสต์โดย : Admin เมื่อ 6 ธ.ค. 2560 11:10:00 น. เข้าชม 166374 ครั้ง
จากกรณีความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เกิดจากข้อที่ 13 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมเป็นอำนาจของ ผอ.สพท. ทำให้นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และรักษาการเลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (ส.บ.พ.ท.) รวบรวม 50,000 รายชื่อเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกข้อที่ 13 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 หากไม่รับข้อเสนอ จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยตัวเอง โดยมีสมาชิก ส.บ.พ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศร่วมสมทบ โดยล่าสุดนพ.ธีระเกียรติ ยอมรับลูก เสนอนายกรัฐมนตรี แก้ไขข้อที่ 13 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2560 นั้น
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และรักษาการเลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (ส.บ.พ.ท.) กล่าวว่า เจตนารมณ์ของชร.ผอ.สพท.คือการยกเลิกข้อที่ 13 ของคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เท่านั้น ฉะนั้นถ้าจะเสนอแก้ไขคำสั่ง คสช. ก็จะต้องเสนอยกเลิกข้อ 13 เพื่อไม่ให้ ศธจ.ติดหล่มงานบุคคล ส่วนข้อเสนอการแบ่งอำนาจบางส่วนคืนให้ ผอ.สพท.นั้น เป็นการประชุมร่วมกันภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องไม่แก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 แต่เมื่อเสนอแก้ไขคำสั่งแล้ว ก็ควรเสนอให้ยกเลิกข้อที่ 13 เพราะเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา และความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
“ในประเด็นควรให้มี 2 องค์คณะ เพื่อแยกงานบุคคลออกจาก กศจ.นั้น ผมเห็นด้วยและสนับสนุนอย่างยิ่ง แต่องค์คณะบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ ไม่ควรให้ ศธจ.ขับเคลื่อน เนื่องจากจะติดหล่มมากขึ้นกว่าเดิม ตลอดทั้งเดือนคงจัดทำวาระการประชุม และรายงานการประชุมก็แทบจะไม่ทัน ควรคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่ตามกฎหมายเดิม หรือ ตั้ง อ.ก.ค.ศ จังหวัดมาบริหารแทน แต่ต้องมีระบบคัดคนเข้ามาเป็นกรรมการให้เข้มงวด มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง จะปล่อยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์เหมือนอดีตที่ผ่านมาของบางเขต บางคนที่เป็นส่วนน้อย ไม่ได้” นายธนชน กล่าว และว่าทั้งนี้หากศธ.ยังไม่เสนอยกเลิกข้อที่ 13 ในส่วนของชร.ผอ.สพท. จะขอใช้อำนาจตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ในการยื่นเสนอร่างแก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 โดยยกเลิกข้อที่ 13 ประกบกับร่างของศธ. เพื่อให้ผู้อำนาจตัดสินใจ
ขอบคุณที่มาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 6 ธันวาคม 2560 - 09:41 น.