โพสต์โดย : Admin เมื่อ 8 ก.พ. 2560 04:50:02 น. เข้าชม 166421 ครั้ง
(8 ก.พ. 60) ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. เป็นประธานเปิดกิจกรรม “สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” ซึ่งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น ร่วมกับกลุ่มมิตรผล รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพระบบการเรียนการสอนสายอาชีวศึกษาด้านการเกษตรสมัยใหม่ที่ครบวงจร ท่ามกลางความสนใจจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือสมัครเข้าเรียนสายอาชีพด้านการเกษตรและเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. กล่าวว่า การยกระดับสถาบันการศึกษาสายอาชีพให้เป็นสถาบันการศึกษาแบบทวิภาคี ซึ่ง สอศ.เร่งขยายรูปแบบจัดการเรียนการสอนครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนหลักสูตรที่สอดคล้องกับเส้นทางอาชีพ ทั้งด้านทฤษฎีและฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ เป็นการเรียนรู้ในกระบวนการผลิต และบริหารจัดการด้านต่างๆ ทั้งได้รับความรู้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างครบถ้วน
ขณะเดียวกัน กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคีนั้น นักศึกษายังได้รับเบี้ยเลี้ยง สวัสดิการ รวมไปถึงทุนการศึกษาในระหว่างการฝึกงาน และเมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง หรือ ปวส. และวุฒิบัตรสำหรับผู้ผ่านประเมินมาตรฐานวิชาชีพแล้ว มีโอกาสเข้าทำงานกับบริษัทที่จัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทันที
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่นได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทมิตรผลจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนทวิภาคีมุ่งเน้นป้อนบุคลากรที่มีศักยภาพเฉพาะทางให้ตลาดแรงงานด้านการเกษตร ถือเป็นนโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาศึกษาสายอาชีพเพิ่มขึ้น เพราะจบมาแล้วมีงานทำทุกคน
ขณะที่การเปิดบ้านสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคีได้รับความสนใจจากนักเรียนในระดับชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย สมัครศึกษาในระดับ ปวช.และ ปวส.จำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการเกษตรและเทคโนโลยี
นายวณิชย์กล่าวต่ออีกว่า การนำเสนอผลงาน ประกอบด้วยการแสดงผลงานของนักศึกษาด้านนวัตรกรรมการเกษตร เช่น การจัดสวนประเภทต่างๆ การจัดแปลงสาธิตผักไฮโดรโปนิกส์และผลไม้ การแสดงชิ้นงานเครื่องกลการเกษตร การแสดงพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ การผสมเทียม การสาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร ทั้งมีการนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย
ประกอบด้วย การใช้โดรนในการประเมินสภาพอ้อย การใช้วิธีไบโอคอนโทรลเพื่อลดการใช้สารเคมี การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ที่ทันสมัยเก็บเกี่ยว ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการร่วมกันคิดค้นนวัตรกรรมของนักศึกษาที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริง
ขอขอบคุณภาพและข่าว