โพสต์โดย : Admin เมื่อ 25 มี.ค. 2564 04:29:00 น. เข้าชม 166349 ครั้ง
ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี แม้ว่าจะเปลี่ยนระบบการสอบหลายรูปแบบแล้วก็ตาม ซึ่งการสอบ TCAS ซึ่งเป็นระบบการสอบล่าสุด ก็ตกเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง จากการที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ออกมาเรียกร้องให้มีการเลื่อนวันสอบ TCAS 64 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้ตารางเรียนและตารางสอบทั้งหมดปั่นป่วน ทำให้วันสอบทุกวิชากระชั้นชิด จนกระทั่งแฮชแท็ก #DEK64กำลังจะถูกทิ้ง ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ตามด้วย #เลื่อนสอบให้อนาคตของชาติ #dek64deservebetter และ #ฟ้องศาลเลื่อนสอบ ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะยกคำร้องที่ขอให้มีคำสั่งเลื่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบ TCAS ในที่สุด
ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่า การส่งเสียงเรียกร้องของเด็กๆ ครั้งนี้ เป็นเพียงการ “งอแง” เพราะอ่านหนังสือไม่ทัน แต่ที่จริงแล้ว เสียงของเด็กกลุ่มนี้กลับสะท้อนบางสิ่งที่ผู้ใหญ่ลืม “รับฟัง” และอาจส่งผลร้ายแรงต่อกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “อนาคตของชาติ” ก็เป็นได้
“ปัญหาที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เราว่ามันมีต้นตออยู่ประมาณ 2 สาเหตุ กับ 1 ตัวเร่ง ก็คือระบบการบริหารจัดการการศึกษาที่ไม่ดีพอจากหน่วยงานต่างๆ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แล้วปัจจัยที่เร่งให้เกิดปัญหาเรื่องการเลื่อนสอบ คือโควิด-19” เพกา ตัวแทนนักเรียนจากกลุ่ม “เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กๆ ต้องออกมาเรียกร้องให้มีการเลื่อนสอบ TCAS
ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โรงเรียนทั่วประเทศต่างหันมาใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นระยะเวลานานเกือบทั้งปีการศึกษา ซึ่งเพกาเล่าว่า สถานการณ์โรคระบาดเผยให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการที่นักเรียนที่มีฐานะทางการเงินดีก็จะสามารถเรียนพิเศษและเตรียมตัวล่วงหน้าได้มากกว่านักเรียนที่ไม่มีเงิน รวมทั้งโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ ที่สามารถปรับตัวมาสอนออนไลน์ได้ง่ายกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก
“บางโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ก็สามารถพัฒนาเว็บไซต์ของเขาเอง เพื่อที่จะมาสอนออนไลน์ให้นักเรียน บางโรงเรียนสามารถซื้อ Zoom หรือ Google Classroom ได้ แต่บางโรงเรียน นักเรียนยังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ด้วยซ้ำ เราเรียกภาวะแบบนี้ว่า ‘การออกจากระบบการศึกษาแบบแฝง’ คือการที่คุณยังมีชื่ออยู่ในระบบ ยังไม่ลาออกจากโรงเรียน แต่คุณไม่ได้ไปเรียน และไม่ได้ผลสัมฤทธิ์อะไรจากการเรียนด้วย” เพกากล่าว
คุณภาพของการเรียนออนไลน์ที่ไม่ดีพอ บวกกับการมอบหมายงานจำนวนมากให้นักเรียนแทนการสอบ รวมทั้งการล็อกดาวน์ ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนไม่น้อย แต่หน่วยงานผู้จัดการสอบอย่างสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลับตัดสินใจไม่เลื่อนตารางสอบเข้ามหาวิทยาลัยออกไป ทำให้ระยะเวลาของการเรียนและการสอบของนักเรียนชั้น ม.6 หดสั้นลง แต่มีวิชาที่ต้องสอบมากถึง 25 – 35 วิชา โดยเริ่มสอบวันแรก 20 มีนาคม 2564 นั่นหมายความว่า เด็กๆ จะไม่มีเวลาแม้แต่จะพักหายใจเลยทีเดียว ซึ่ง ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า
“การล็อกดาวน์โควิด-19 ทำให้ตารางการสอบปกติ ที่มีช่วงเวลาให้เด็กๆ ได้ทยอยสอบ ประมาณ 1 เดือนครึ่ง หดลงเหลือประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ ทำให้ตารางของเด็กแน่นมาก เด็กต้องสอบปลายภาค สอบระดับชาติ แล้วก็สอบวัดผลที่จะประกอบการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้กันมากๆ แทบจะสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ทำให้เด็กๆ เป็นกังวลว่าเขาจะบริหารความเครียดไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ทัน”
จากสถานการณ์ดังกล่าว นักเรียนที่กำลังจะเข้าสอบได้รวมตัวกันในโลกออนไลน์ เรียกร้องให้มีการเลื่อนสอบออกไป ทว่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม กระทรวงศึกษาธิการ ทปอ. และ สทศ. ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า "ไม่เห็นควรให้มีการเลื่อนสอบ" เนื่องจากมองว่า นักเรียนควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่เข้าสู่ชั้นมัธยมปลาย และมีกำหนดการสอบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 เดือน หากมีการเลื่อนก็จะส่งผลต่อระบบการสอบทั้งระบบ และยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความพร้อม รวมถึงการเปิดภาคเรียนของหลายมหาวิทยาลัย
ด้าน ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบ TCAS ก็ให้สัมภาษณ์ในรายการ Zoom in ของทีวีรัฐสภา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ว่า การเลื่อนสอบจะส่งผลกระทบต่อบุคคลหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกรรมการคุมสอบ ศูนย์อำนวยการสอบ บุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธาน ทปอ. ก็ยืนยันว่า จะยังคงเดินหน้าจัดสอบต่อไปเช่นกัน
"ทุกการสอบมีคนไม่พร้อม และมีความเครียดอยู่แล้ว แน่นอนความเห็นต่างมีอยู่ในทุกเรื่อง ซึ่ง ทปอ.จะต้องตัดสินเพื่อส่วนรวม เพื่อให้ทุกคนเดินหน้าต่อไปได้ ทปอ. ไม่ได้เพิกเฉยละเลย ไม่สนใจเสียงเรียกร้องของนักเรียน เราเคารพเสียงของนักเรียน" ศาสตราจารย์บัณฑิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ผศ.อรรถพล ความไม่พร้อมของนักเรียนผู้เข้าสอบไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวของเด็กๆ เอง แต่เด็กกลุ่มนี้ “ถูกทำให้ไม่พร้อม” ด้วยปัจจัยทางสังคมที่ควบคุมไม่ได้ อย่างสถานการณ์โรคระบาด รวมทั้งนโยบายของรัฐที่กระทบต่อการบริหารจัดการชีวิตของพวกเขา
ด้านเพกาก็มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความพร้อมหรือไม่พร้อมของปัจเจก แต่เป็นเพราะความไม่พร้อมของระบบการศึกษา ที่ไม่เอื้อให้เด็กๆ ได้แข่งขันในสนามสอบอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
“ในสถานการณ์นี้ คุณต้องดูด้วยว่า สนามที่แข่งว่ามันยุติธรรมแค่ไหน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคืออะไร ไม่ใช่คนหนึ่งวิ่งบนถนนคอนกรีตสบายๆ บางคนวิ่งบนทางลูกรัง อันนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าจะบอกว่าใครไม่พร้อมมากที่สุด ก็คือหน่วยงานทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ ที่ปล่อยให้ปัญหานี้มันมีมาตั้งแต่เอนทรานซ์ แอดมิสชัน จนมา TCAS ก็มีปัญหาเรื่องเดิม คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นี่ต่างหากคือความไม่พร้อมของคุณ ไม่ใช่ของนักเรียน” เพกากล่าว
นอกจากปัญหาด้านความพร้อมของผู้สอบแล้ว เหตุผลหนึ่งที่ ผศ.อรรถพล ต้องการให้มีการเลื่อนสอบ คือความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง ขณะที่หน่วยงานผู้จัดสอบยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้
“เด็กที่จะมาสอบในวันเสาร์ - อาทิตย์นี้จะอยู่ที่ประมาณ 180,000 คน สัปดาห์หน้าที่เป็นสอบ O-NET คือ 400,000 คน แล้วเด็กก็ต้องเคลื่อนย้ายจากต่างอำเภอเข้ามาในเมืองใหญ่ เพื่อมาสอบ GAT - PAT ซึ่งไม่ได้มีศูนย์สอบกระจายตัวเท่าพื้นที่สอบ O-NET มันก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยง ในขณะที่ ทปอ. ต้องการเซฟกรรมการคุมสอบ มีชุดป้องกันให้ แต่เด็กให้ใส่หน้ากากอนามัย และเด็กต้องเดินทางจากบ้าน มันเป็นการปัดภาระไปที่ปัจเจกหมดเลย กลายเป็นว่าเด็กต้องดิ้นรนเอง เผชิญสถานการณ์กันเอง และหาวิธีแก้ปัญหากันเอง” ผศ.อรรถพลกล่าว
สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็กๆ หากไม่มีการเลื่อนวันสอบ ผศ.อรรถพลกล่าวว่า สภาพจิตใจของเด็กๆ จะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และอาจนำไปสู่ความสูญเปล่าในระบบการศึกษาที่หลายคนมองไม่เห็น
“ถ้าเราปล่อยให้ความเครียดนี้ดำเนินต่อไป เด็กก็ต้องจำใจสอบในสนามแข่งขัน แต่มันก็เสียสุขภาพจิตกันหมด เด็กจำนวนหนึ่งยอมแพ้ เขาก็สอบเท่าที่ทำได้ ปีนี้ติดอะไรก็ว่ากันไป เดี๋ยวปีหน้าก็ว่ากันใหม่ ซึ่งมันก็เป็นความสูญเปล่าทั้งหมด เราจะเอาชนะกันแค่รักษากรอบเวลาเดิมได้ จัดสอบได้ ยื่นผลได้ ประกาศรายชื่อได้ เพื่อที่อีกปี เด็กเหล่านี้จะไปสอบใหม่ ผมว่ามันก็คือความสูญเปล่าที่มองไม่เห็น แล้วมันก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย” ผศ.อรรถพลกล่าว
“ถ้าเปิดใจรับฟัง ปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย เราอาจจะลดหย่อนหรือเปลี่ยนแปลงข้อเสนออะไรได้บ้าง” เพกาพูดขึ้นเมื่อเราถามถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเธอระบุว่า นักเรียนทุกคนจ่ายเงินค่าเข้าสอบเป็นจำนวนหลายพันบาท ดังนั้น หน่วยงานผู้จัดสอบจึงควรรับฟังเสียงของเด็กๆ ซึ่งหมายถึง “ลูกค้า” ที่จ่ายเงินให้กับหน่วยงาน มากกว่าการผลักภาระให้เด็กกลุ่มนี้ไปดิ้นรนแก้ปัญหาเอง
ด้าน ผศ.อรรถพล ก็กล่าวว่า หาก ทปอ. ยอมเลื่อนการสอบที่มีผู้เข้าสอบไม่มากนัก เช่น GAT - PAT ที่มีผู้เข้าสอบประมาณ 1 แสนคน ก็อาจจะแก้ปัญหาได้
“ผู้ใหญ่ไม่ควรไปตีความว่าแพ้เด็ก มาต่อสู้กัน เอาชนะคะคานกัน แต่มันคือเรื่องความทุกข์ร่วมกันของสังคม การช่วยกันหาทางออกเพื่อให้ทุกคนไปต่อด้วยกันได้น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่ามองเด็กเป็นคู่ขัดแย้ง แต่เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการที่เขาส่งเสียงบอกมันทำให้เราต้องคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น ผมคิดว่า มันเป็นสถานการณ์ที่เราต้องลดการเรียกร้องจากกันและกัน แล้วถอยมาดูว่าเราจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร” ผศ.อรรถพลกล่าว
กรณี #DEK64กำลังจะถูกทิ้ง ไม่เพียงแต่เป็นการปะทะกันระหว่างระบบการสอบกับผู้เข้าสอบเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงภาพความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนด้วย ผศ.อรรถพล อธิบายว่า กรณีนี้ คนที่ควรจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบต่างๆ ที่รัฐบริหารจัดการ กลับกลายเป็นคนที่มีเสียงในการสื่อสารต่อรองน้อยที่สุด ซึ่งเรื่องนี้อาจจะโยงเข้ากับปัญหาการเมืองในภาพใหญ่ด้วย
“บรรยากาศของความโกรธระหว่างคนแต่ละรุ่นมันก็จะรุนแรงมากขึ้น เพราะท่าทีที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อเด็กเป็นแบบนี้ ผมอยากให้ผู้ใหญ่มีความเข้าใจความโกรธของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น การที่เราโตกว่าเขา ทำให้เราต้องเป็นผู้ที่รับฟังมากกว่าเขา ใครถอยก่อน คนนั้นมีวุฒิภาวะมากกว่า” ผศ.อรรถพลสรุป