โพสต์โดย : Admin เมื่อ 10 พ.ค. 2560 13:14:47 น. เข้าชม 166477 ครั้ง
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หน่วยผลิตบัณฑิตวิชาชีพทางการศึกษา หน่วยใช้ครูทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ประกอบวิชาชีพครู ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า หลักการในการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา จากปัจจุบันที่กำหนดเป็น 11 มาตรฐานความรู้ ควรปรับเป็นการเน้นมาตรฐานสมรรถนะ โดยจัดกลุ่มให้มีความกระชับ ชัดเจน ประเมินผลได้ สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เทียบเคียงกับมาตรฐานอาเซียน
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อว่า ร่างโครงสร้างมาตรฐานวิชาชีพครูใหม่ จะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1.มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ
2.มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ
3.มาตรฐานการปฏิบัติตน
โดยเฉพาะในส่วนของมาตรฐานการปฏิบัติงาน จะต้องปรับใหญ่เพราะที่ทำอยู่ยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาครู และเรื่องนี้ยังมีผลสืบเนื่องถึงการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและเห็นว่า แนวทางการนำมาตรฐานครูไปสู่การปฏิบัติ ต้องเชื่อมโยงกับมาตรฐานของหน่วยผลิตครู ควรมีรายวิชาสอนผู้เรียนให้มีเจตคติและจิตวิญญาณความเป็นครู การฝึกประสบการณ์วิชาชีพระหว่างเรียน ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เป็นต้น
“เบื้องต้นได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู โดยยึดเกณฑ์ที่เป็นคุณลักษณะและสมรรถนะครู ที่มีทั้งความรู้ ความคิด ทักษะและคุณธรรมครบถ้วน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.ครูปฏิบัติการ มีความรู้ปฏิบัติการสอนในขั้นพัฒนางานได้
2.ครูชำนาญการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดใหม่ ปรับปรุงวิธีการสอนใหม่ๆ ให้ทันสมัยเสมอ
3.ครูเชี่ยวชาญ มีความชำนาญรู้ลึกซึ้ง บูรณาการในการสอนได้ สร้างและพัฒนาทักษะใหม่เพื่อเด็ก และ
4.ครูทรงคุณวุฒิ คิดสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ตกผลึกในความคิด สามารถคาดคะเนได้
เป็นต้น”นายสมศักดิ์กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2560
ขอบคุณ เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม