โพสต์โดย : Admin เมื่อ 1 ก.พ. 2563 07:36:22 น. เข้าชม 166395 ครั้ง
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังจากตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านไก่ป่า โรงเรียนบ้านมะอึ โรงเรียนบ้านธาตุประทับ โรงเรียนชุมชนบ้านยางกู่ และโรงเรียนบ้านดงบ้านนาประชาสรรค์ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ว่า หลังจากตรวจเยี่ยมโรงเรียนเหล่านี้พบสภาพจริงของหลายโรงเรียน ที่แม้โรงเรียนไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น อยู่ใกล้สนามบินนานาชาติร้อยเอ็ดเพียง 3-4 กิโลเมตร แต่กลับมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่พอสมควร คิดว่าเรื่องนี้ต้องรีบปรับปรุงพัฒนา ไม่ใช่แค่ที่จ.ร้อยเอ็ดเท่านั้น ต้องพัฒนาการศึกษาในทุกพื้นที่ ที่มีความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ตนเข้าใจถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่จะปล่อยไว้แบบนี้และปล่อยไว้นานกว่านี้ไม่ได้ เพราะถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะเสียเวลา และจะมีเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“เรื่องนี้จะปล่อยไว้ไม่ได้ ศธ.จะต้องบริหารจัดการ โดยจะต้องกระตุ้นให้ทุกภาพส่วนรับรู้แนวทางพัฒนาการศึกษา ผมจะนำพื้นที่ร้อยเอ็ดเป็นตัวอย่างในการอธิบายให้ทุกภาคส่วนรับรู้แนวทางที่ชัดเจน จากการลงพื้นที่พบโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน มหาวิทยาลัยจนสามารถนำการเรียนการสอนส่งต่อมาถึงเด็กได้ และพบโรงเรียนใกล้เคียงที่สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6 มีครู 3 คน นักเรียน 30-35 คน แม้สัดส่วนครูต่อนักเรียนจะดูดี คือ 1:10 แต่ช่องว่างระหว่างช่วงชั้นของนักเรียนมีมาก ครูสอน 3 คน ไม่เพียงพอ แม้ว่าจะนำการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมมาช่วย แต่คุณภาพการศึกษายังไม่ได้ยังไม่มี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอุปกรณ์ไม่ได้คุณภาพอยู่บ้าง หากมีการบรูณาการ ทำความเข้าใจกันในทุกโรงเรียนจะสามารถทำให้การศึกษาพัฒนาต่อไปได้” นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ต่อไปตนจะทำเป็นแนวทางพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อเป็นตัวอย่างให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะได้เข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมาตนเข้าใจว่า สพท.ไม่กล้าทำเพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ถ้าสพท.ได้เห็นตัวอย่างจะเข้าใจ และคลายความสงสัย หรือความลำบากใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่เคยมีแต่ไม่ได้ทำ ส่วนการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไปได้กี่แห่งแล้วนั้น ตนมองว่าตัวเลขการควบรวมไม่ได้สำคัญ แต่บริบทในพื้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญ ความเข้าใจ และกล้าตัดสินใจในพื้นที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าตัวเลขของการควบรวมโรงเรียน ซึ่งผู้ที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หรือผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. แต่เป็นผู้อำนวยการ สพท. ที่จะช่วยกันดูแลบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ตนเชื่อว่าผู้อำนวยการ สพท.หลายคนอาจจะมีแผนบริหารจัดการไว้อยู่แล้ว แต่พบว่ามีข้อจำกัดต่างๆ จึงปล่อยเรื่องนี้ไปก่อน แต่วันนี้เราจะปล่อยเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไปเช่นนี้เด็กจำนวนมากจะไม่ได้รับการศึกษาที่สมควรจะได้รับ