โพสต์โดย : Admin เมื่อ 13 พ.ย. 2561 11:49:08 น. เข้าชม 166407 ครั้ง
นักเรียนยากจนพิเศษ / เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามเพื่อดำเนินการโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัดสพฐ.
พร้อมชี้แจงการดำเนินงาน การจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 2/2561 แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อีกด้วย
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า สพฐ.ร่วมกับ กสศ. ในการพัฒนาเครื่องมือ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลนักเรียนที่มีฐานะยากจน มาเป็นเวลา 3 ปีจัดทำเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจน และกลไกตรวจสอบหลายระดับจากการวิจัยและจัดทำระบบฐานข้อมูล และแอพพลิเคชั่นให้โรงเรียนและคุณครูได้กรอกข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ซึ่งถือเป็นการปฏิรูป 2 เรื่อง คือ1.ปฏิรูประบบการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ทำให้เงินอุดหนุนถูกจัดสรรไปช่วยเหลือนักเรียนตรงสภาพปัญหาและความจำเป็นรายบุคคล และ2.ปฏิรูปกลไกการจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ
“ขณะนี้สพฐ.มีนักเรียนในสังกัด ทั่วประเทศจำนวนประมาณ 7,000,000 คน มีนักเรียน ประสบปัญหาความยากจน 1,600,000 คน ในจำนวนนี้ 600,000 คน มีฐานะยากจนพิเศษ แบ่งเป็น ประถมศึกษา 430,000 คน และมัธยมศึกษา 180,000 คน
ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยให้เด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ในอัตราระดับประถม 500 บาทต่อคนต่อภาคเรียน และมัธยมศึกษา 1,500 บาทต่อคนต่อภาคเรียน เป็นค่าใช้จ่ายค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน, ค่าเสื้อผ้าและวัสดุเครื่องแต่งกายนักเรียน, ค่าอาหารกลางวัน และค่าพาหนะในการเดินทาง และสำหรับความร่วมมือกับ กสศ. ในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษา สังกัดสพฐ.
ครั้งนี้ กสศ.จะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม หรือท็อปอัพ พิเศษให้แก่กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ จำนวน 600,000 คน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ปีละ 1,600 บาทต่อคนต่อปี หรือภาคการศึกษาละ 800 บาทต่อคน” นายบุญรักษ์ กล่าว
เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า สพฐ.จะจัดสรรงบประมาณผ่านไปให้โรงเรียน และโรงเรียนจะนำเข้าบัญชีเด็กจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะอยู่ที่โรงเรียน ซึ่งจะให้โรงเรียนทำแผนการใช้จ่ายสำหรับเด็กรายบุคคล อย่างไรก็ตาม การโอนเงินให้แก่เด็กทางโรงเรียนจะต้องมีเอกสาร หลักฐานที่แสดงชัดเจน เพื่อความสะดวก โปร่งใสในการตรวจสอบด้วย
นอกจากนี้ ตนกำชับไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้กลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษา จัดทำระบบติดตามเด็กที่รับทุนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทุนที่ได้จาก กสศ. หรืออื่นๆ เช่น ทุนการศึกษาพระราชทาน และทุนจากเอกชน เป็นต้น ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าเงินงบประมาณเข้าถึงนักเรียนจริงหรือไม่ พร้อมหลักฐานมาแสดง และการใช้งบประมาณนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุนหรือไม่ เป็นต้น
ด้าน นพ.สุภกร กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2561 จะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นป.1-ม.3 โดยให้งบประมาณ 800 บาทต่อคนต่อภาคเรียน
จะแบ่งการจัดสรรเงินออกเป็น 2 ส่วน เท่าๆ กัน คือส่งโดยตรงไปยังตัวเด็ก คือ 1.เป็นเงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียนและค่าครองชีพระหว่างเรียน และ2.เป็นงบประมาณผ่านโรงเรียน เป็นเงินอุดหนุนแก่สถานศึกษาเพื่อกิจกรรมการพัฒนานักเรียนยากจน ให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ รวมถึงค่าอาหารที่ทางสถานศึกษาจัดหาให้เพิ่มเติม ในส่วนที่ยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนในปัจจุบัน
“ซึ่งระหว่างเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคมนี้ จะเป็นช่วงที่สถานศึกษาส่งรายชื่อนักเรียนที่เข้าเกณฑ์ยากจนพิเศษจากผลการคัดกรองเมื่อภาคเรียนที่ 1/2561 ให้แก่ กสศ. โดยสพฐ. และกสศ. จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาปรับปรุงรายชื่อให้เป็นปัจจุบัน จากนั้นนักเรียนที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเติม จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง
โดยครูประจำชั้นจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลรายได้ และสถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคล ระหว่างกระบวนการเยี่ยมบ้านในเทอม 2/2561 ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ จากนั้นคณะกรรมการสถานศึกษา จะพิจารณารับรองความถูกต้องของข้อมูลรายชื่อ และผลการคัดกรองทั้งหมดอีกครั้งก่อนส่งข้อมูลให้แก่ กสศ.
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าจะจัดสรรงบให้แก่โรงเรียนในสังกัดสพฐ. ประมาณวันที่ 15 ธ.ค. นี้ โดยงบประมาณที่ กสศ. ใช้ช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ ตกประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี” นพ.สุภกร กล่าว