โพสต์โดย : Admin เมื่อ 6 ม.ค. 2560 01:48:44 น. เข้าชม 166370 ครั้ง
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารฝ่ายการเมือง ร่วมประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันพุธที่ 4 มกราคม 2560 มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแผนงาน/โครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่จะดำเนินการในปีนี้ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในระยะเวลาที่เหลือตาม Roadmap ของรัฐบาล ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง กระทรวงศึกษาธิการจะขับเคลื่อนกิจกรรมและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และสานต่อนโยบายทางการศึกษาที่ผ่านมาของรัฐบาล โดย Focus ในเรื่องที่จะดำเนินการในปี 2560 ดังนี้
การพัฒนาโรงเรียน ICU หรือเป็นโรงเรียนที่อยู่ในสภาพที่แย่ เช่น ครูไม่พอ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เด็กออกกลางคันจำนวนมาก มีปัญหาด้าน IT เป็นต้น หากไม่ดูแลโรงเรียน ICU เหล่านี้ การศึกษาชาติจะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ
- โดยในเบื้องต้นได้ทำการคัดเลือกโรงเรียน ICU สังกัด สพฐ. จำนวน 3,000 แห่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 10,000 แห่งด้วยความสมัครใจก่อน และ สพฐ. จะพิจารณาคัดเลือกโรงเรียน ICU ในกรณีที่โรงเรียนนั้นมีสภาพที่เข้าข่ายโรงเรียน ICU แต่ไม่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ หรือกรณีที่ไม่อยู่ในข่าย ICU แต่อยากจะเข้าร่วมโครงการ ก็คงมีเตียงที่จะรักษาไม่พอ
- การดำเนินการเช่นนี้จะเปรียบเสมือนกับการมีโรงพยาบาลที่มีเตียง ICU จำนวน 3,000 เตียง โดย สพฐ. จะทำหน้าที่เสมือนเจ้าของโรงพยาบาล และเมื่อได้โรงเรียน ICU แล้ว ผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูในโรงเรียนต้องร่วมกันวินิจฉัยปัญหาของโรงเรียน จากนั้นจัดทำแผนการรักษาจากทุกภาคส่วน ซึ่งผู้บริหาร สพฐ. ต้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาโรงเรียน ICU ด้วย เมื่อมีแผนแล้วจะระดมแก้ปัญหาภายใน 1 ภาคเรียน หากโรงเรียนใดได้รับการพัฒนาจนพ้นจากโรงเรียน ICU แล้วก็สามารถออกจากเตียง ICU ได้ โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาที่สามารถนำโรงเรียนออกจากเตียง ICU ได้ จะได้รับการเลื่อนขั้นตามความดีความชอบอย่างเหมาะสม และถือเป็นเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาความก้าวหน้าในสายงานอีกอันหนึ่งด้วย
- เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีได้มีการประชุมทางไกลกับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่ทางการศึกษาทั่วประเทศแล้ว โดยขอให้เขตพื้นที่การศึกษารับฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนด้วย
- แนวทางการพัฒนาโรงเรียน ICU นอกจากจะพัฒนาในโรงเรียน สพฐ. ที่มีจำนวน 3,000 แห่ง จะพัฒนาสถานศึกษา ICU สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และโรงเรียนเอกชน ในรูปแบบเดียวกันด้วย
การปฏิรูปครู จะสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องที่เกี่ยวกับครู เช่น
- “ปัญหาปัจจุบันคือ ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหารเพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี reward” (5 ก.ค.2555) หรือ
- “ครูบางส่วนเวลาสอนนักเรียนจะสอนไม่หมดแต่เก็บไว้บางส่วน หากนักเรียนต้องการรู้ทั้งหมดวิชา ก็ต้องเสียเงินไปสมัครเรียนพิเศษกับครูท่านนั้น จะเป็นการสอนในโรงเรียนหรือส่วนตัวก็ตาม” (5 ก.ค.2555) เป็นต้น
- โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งดำเนินการในเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของครู แนวทางการอบรมครู รวมทั้งโครงการ "ครูคืนถิ่น" ซึ่งเป็นแผนระยะ 10 ปีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ. เป็นเจ้าภาพหลัก แต่เมื่อทุกภาคส่วนเห็นว่าจะมีการแยก สกอ. เป็นกระทรวงอุดมศึกษา (หรืออาจจะใช้ชื่ออื่น) จึงต้องเปลี่ยนหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักตามโครงการครูคืนถิ่น โดยให้ สพฐ. และ สอศ. ดูแลรับผิดชอบ
ยุทธศาสตร์การแข่งขันของประเทศด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ฯลฯ โดยขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำแอพพลิเคชั่น Echo V หรือ Echo English Vocational สำหรับให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาที่จะจบในปีนี้ได้มีโอกาสใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อการส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษตามหลักสูตรและสาขานั้น ๆ เช่น Hospitality ก็จะบรรจุคำศัพท์และการเรียนรู้ในด้านนี้ อันจะช่วยเตรียมความพร้อมด้านภาษาต่างประเทศให้ผู้เรียนก่อนจบออกไปทำงานจริง
การส่งเสริมคุณธรรม เพื่อต้องการสร้างเด็กให้โตขึ้นมา เกลียดความไม่ซื่อสัตย์ เกลียดการโกง หรือเติบโตขึ้นมากับความไม่โกง โดยให้ยึดหลัก “โตให้กลัว เล็กให้เกลียด” กล่าวคือ ปลูกฝังให้ผู้ใหญ่กลัวความผิดจากการโกง และให้เด็กเกลียดการโกงตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อจะได้ไม่กระทำการสิ่งใดที่เป็นการทุจริต
การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา จะมีการหารือรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องต่อไป
การปรับปรุงหลักสูตร ยืนยันว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะอยู่ในกรอบเดิม เพียงแต่จะปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรเองได้ ซึ่งกรอบหลักของหลักสูตรจะเน้นไปที่ Active Learning (การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป) ให้มากขึ้น ส่วนรายวิชาที่จะเพิ่มเติมในหลักสูตรฉบับปรับปรุงจะมี 3 วิชา คือ ภูมิศาสตร์, Design Technology และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร (ICT) พร้อมทั้งเน้นการส่งเสริมการอ่านของผู้เรียนให้มากขึ้นด้วย
ผลการทดสอบ PISA ซึ่งอันดับของประเทศยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงจะมีการวางแผนงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ให้มีอันดับที่สูงขึ้นในระยะยาว
นโยบายการอุดมศึกษา ยังคงเน้นการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของสภามหาวิทยาลัย และนโยบายการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา (หรืออาจใช้ชื่ออื่น) ซึ่งยืนยันว่าจะเกิดได้ทันภายใน Roadmap ของรัฐบาลนี้
ยุทธศาสตร์ความมั่นคง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น โรงเรียนในเขตพื้นที่สูงจังหวัดชายแดนภาคเหนือ (โรงเรียนชายขอบ) หรือการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ จะลงไปช่วยกำกับติดตามในโรงเรียนเหล่านี้เพื่อยกระดับการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
การจัดการศึกษาแก่เด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่จะประกาศใช้ ได้ระบุตามมาตรา 54 ว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย" ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องเตรียมความพร้อมดำเนินการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย เช่น การหารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน การสำรวจจำนวนและความพร้อมของโรงเรียน สพฐ. หรือหลักเกณฑ์การอนุญาตการออกใบประกอบวิชาชีพสำหรับครูปฐมวัย เป็นต้น
ขอบคุณ เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม