โพสต์โดย : Admin เมื่อ 19 ธ.ค. 2559 11:25:47 น. เข้าชม 166366 ครั้ง
วานนี้ (18 ธ.ค.) เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพ ฯ มีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “พลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรี : ความจริงและภาพแทน” โดยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับ โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มีผู้เข้าร่วมฟังคึกคักเต็มห้องประชุม (อ่านข่าว เสวนา “พลังหญิง-แม่-เมีย” คึกคัก นักวิชาการชี้ สตรีเป็นใหญ่ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์)
ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผอ.สถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมกการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งว่า ในเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สพฐ. ตกเป็นจำเลยทุกเวทีว่าแบบเรียนเก่า ล้าสมัย ยังมีความเข้าใจว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ซึ่งครูผู้สอนไม่รู้ เนื่องจากข้อมูลและข้อสรุปที่เกิดจากความรู้ใหม่อยู่กับอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการ ไม่ได้เชื่อมกับแบบเรียนในโรงเรียน ตนจึงพยายามเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกให้มีการเปลี่ยนแปลง
“ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การจดจำข้อมูลมากมาย แต่เป็นการทำให้ได้คิด เป็นปัญญาชน สพฐ. จึงทำงานร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ งานเสวนาครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาร่วมเรียนรู้เนื้อหาประเด็นใหม่ๆ อย่าให้การศึกษาเป็นเรื่องของโรงเรียนกับกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะเรียนรู้ และตั้งคำถาม” ดร.เฉลิมชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานดังกล่าวยังมีการแจกเอกสารประกอบการเสวนา เป็นหนังสือเล่ม จำนวน 332 หน้าประกอบด้วยบทความของนักวิชาการจำนวนมาก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับผู้หญิง บรรณาธิการ คือ ผศ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ ในส่วนคำนำโดยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังระบุตอนหนึ่งว่า พรมแดนความรู้ด้านประวัติศาสตร์อาจยากต่อการทำความเข้าใจอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามในอนาคตจะมีการศึกษาที่ลุ่มลึกต่อไปและเชื่อมโยงความรู้สู่การพัฒนาครูผู้สอน ตลอดจนแสวงหาแนวทางการประยุกต์ใช้เนื้อหาสาระและประสบการณ์ไปสู่การประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐานต่อไป