โพสต์โดย : Admin เมื่อ 14 มิ.ย. 2560 03:21:08 น. เข้าชม 166372 ครั้ง
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) นครราชสีมา อดีตประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)นครราชสีมา เขต 7 กล่าวในการประชุมเสวนาเรื่องคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)หรือ สพป. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)อะไรคือคำตอบของการปฏิรูปการศึกษา จัดโดยสหภาพครูแห่งชาติ ที่โรงแรมเจริญธานี ขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เราผ่านรูปแบบวิธีการบริหารจัดการศึกษาทั้งแบบเขตพื้นที่การศึกษาตามหลักการกระจายอำนาจให้แต่ละพื้นที่ และการรวมศูนย์อำนาจคือ ศึกษาธิการจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามากำกับดูแล ทั้งสองรูปแบบดังกล่าวได้รับการสะท้อนว่า ไม่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนได้จริง และตอบสนองตำแหน่งใหญ่โตให้ผู้มีอำนาจเพื่อมาเป็นนายของครูเท่านั้น สิ่งที่ ศธ.กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้คือการมีศึกษาธิการภาค(ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ดูเหมือนจะเป็นการผสมผสานทั้งสองแบบที่เคยทำมา ตนเชื่อว่ายิ่งจะทำให้เกิดปัญหาติดตามมาอีกมากมาย ทำงานด้วยกันยาก
“ทางออกที่เหมาะสมคือต้องลดอำนาจกระทรวง ศธภ. ศธจ. รวมถึง ผอ.สพท.ลงให้มากที่สุด เพราะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืนต้องกระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการบริหารให้กับสถานศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานศึกษานั้น หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวควรทำหน้าที่สนับสนุน กำกับ ติดตาม ควบคุมและดำเนินการในกรณีที่สถานศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น ขาดความรับผิดชอบ หรือทำงานไม่บรรลุเป้าหมายในการจัดการศึกษา” นายอดิศร กล่าว และว่า การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบให้โรงเรียนอย่างแท้จริงคือสิ่งที่รัฐทุกยุคทุกสมัยไม่เคยดำเนินการเลย เพราะรัฐกลัวการทุจริตและไม่รับผิดชอบของสถานศึกษาโดยเฉพาะอำนาจบริหารงานบุคคลและงบประมาณ ขอเสนอให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตามการกระจายอำนาจ ให้มีอำนาจควบคุม ลงโทษได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มีการทุจริตหรือขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจดังกล่าว” นายอดิศร กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก http://www.kroobannok.com/82236