โพสต์โดย : Admin เมื่อ 24 ส.ค. 2560 07:36:41 น. เข้าชม 166362 ครั้ง
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายสมศักดิ์ คชฤทธิ์ ที่ปรึกษาชมรมนักประชาสัมพันธ์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) พร้อมประกาศให้เกลี่ยอัตรากำลังเพื่อรองรับการจัดตั้งสำนักงาน ศธจ.และสำนักงาน ศธภ.จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวนหนึ่ง ส่งผลให้บุคลากรที่เหลือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ รอดูว่าอนาคตของตนเอง และเขตพื้นที่ฯ จะเป็นอย่างไร ล่าสุดมีการเผยแพร่ร่างกรอบอัตรากำลังเกี่ยวกับการจัดบุคลากรลงตำแหน่ง หลังจากมีคณะทำงานไปทำกรอบอัตรากำลังใหม่ของ สพฐ.สร้างความไม่สบายใจอย่างมากให้ในแต่ละกลุ่มงาน เนื่องจากปรับลดทั้งจำนวนคน และบางตำแหน่งความก้าวหน้าถอยหลังด้วย หากกรอบนี้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะมีกลุ่มงานต่างๆ ได้รับผลกระทบหลายกลุ่มงาน อาทิ กลุ่มอำนวยการ ตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) จะถูกลดเหลือแค่ระดับชำนาญการ (ระดับ 7) นักจัดการงานทั่วไป ระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) เดิมมีเป็นระดับชำนาญการพิเศษ 2 ตำแหน่ง จะถูกตัดเหลือนักจัดการงานทั่วไป (ระดับ 8) เพียงตำแหน่งเดียว
“นอกจากนี้ กลุ่มงานอื่นๆ จะได้รับผลกระทบเช่นกัน หากกรอบนี้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งกลุ่มบริหารงานการเงินและสินทรัพย์ กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มบริหารงานบุคคล กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา ซึ่งขณะนี้ผู้แทนแต่ละกลุ่มงานกำลังดำเนินการจัดทำเอกสารเพื่อยื่นต่อผู้บริหาร สพฐ., สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอทบทวนเรื่องดังกล่าว” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ นักประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ เป็นกลุ่มงานหนึ่งที่จัดอยู่ในข่ายที่ถูกตัดลดความก้าวหน้าลง ต่างก็รู้สึกวิตกกังวลกันมากว่าอะไรเกิดขึ้นกับผู้ประกอบวิชาชีพนักประชาสัมพันธ์ในสังกัด สพฐ.เนื่องจากความก้าวหน้ากลับถอยหลังลง จากที่เคยก้าวหน้าเป็นระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) แต่เมื่อจัดกรอบใหม่ กลับตีค่างานให้อยู่ในระดับความก้าวหน้าเพียงชำนาญการ (ระดับ 7) เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพนักประชาสัมพันธ์ ถือเป็นวิชาชีพหนึ่งที่เป็นกลุ่มงานที่มีความสำคัญในการช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการปฏิรูปการศึกษาในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง
“ตั้งแต่ปี 2549 นักประชาสัมพันธ์ได้รับการยอมรับว่ามีผลงานเป็นวิชาชีพที่ก้าวหน้าได้ถึงระดับชำนาญการพิเศษ แต่พอปฏิบัติงานมาถึงปี 2560 ความก้าวหน้ากลับลดลง ทั้งๆ ที่ภารกิจ และขอบข่ายของงานเพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติงานต้องครอบคลุมภารกิจของงานอื่น ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ตลอดจนสถานศึกษา ครู นักเรียน ประชาชน หน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ภายใต้งบประมาณที่จำกัด กำลังบุคลากรก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาล และ ศธ.เน้นให้ความสำคัญของงานประชาสัมพันธ์ ว่าเป็นหัวใจหนึ่งที่จะส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการกำหนดกรอบอัตรากำลังของคณะกรรมการในครั้งนี้ พวกเรานักประชาสัมพันธ์ทั้ง 225 เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ จึงขอความเห็นใจผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นบทบาท และภาระงานของพวกเรา ที่ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่นักประชาสัมพันธ์ด้วยใจรัก เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และอย่างเต็มความรู้ความสามารถ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 24 สิงหาคม 2560 - 11:18 น.
อ่านต่อ : https://www.kroobannok.com/82694