โพสต์โดย : Admin เมื่อ 13 ธ.ค. 2561 08:30:41 น. เข้าชม 166520 ครั้ง
คุณอยากสอบตกไหมครับ?
คำตอบ ก็คงจะไม่มีใครอยากแน่นอน สำหรับนักศึกษาทุกคนก็คาดหวังที่จะได้เกรดดีๆ แต่บางครั้งสถานการณ์ในชีวิต ก็เกินจะควบคุม ครั้งนี้นักศึกษาที่เข้ามาปรึกษาผม เธอเรียนคณะครุศาสตร์ แต่ “สอบตก” ครับ ไม่ใช่ตกธรรมดา แต่ติดเอฟรวดเดียว 6 ตัว ผมขอใช้นามสมมติถึงเธอว่า “ดริ้งค์” นะครับ
ดริ้งค์ เป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมีชื่อของประเทศไทย ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม เธอเป็นเด็กหัวดี เรียนเก่ง เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง และสอบติดมหาวิทยาลัยนี้ได้อย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่เพื่อนรุ่นเดียวกันแถวบ้านไม่มีใครสอบติดที่นี่เลย เธอจึงตั้งความหวังกับตัวเองไว้สูงมาก “เห็นไหม…ฉันก็เก่งนะ ไม่ว่าฉันจะทำอะไรก็ออกมาดีไปหมด”
เธอเจอใครก็ตอบอย่างเต็มภาคภูมิว่า “ฉันสอบติดมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งแล้ว”
แต่ความสุขของเธอก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อเข้าไปเรียนปี 1 คะแนนของเธอออกมาไม่ดีอย่างที่คิด สอบแต่ละครั้งก็ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ มองดูเพื่อนๆ ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองด้อยมากขึ้นไปอีก เริ่มผิดหวังกับตัวเอง กระทั่งปี 2 เธอต้องเลือกเอก แต่สอบไม่ติด เมื่อตารางเรียนไม่เหมือนใคร
เธอยิ่งรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว จึงเริ่มใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่ติดต่อใคร พยายามหาสิ่งอื่นทำ เพื่อหันเหความสนใจจากสิ่งที่เผชิญอยู่
วันหนึ่งเธอมาขอคำปรึกษาจากผมทั้งน้ำตา ว่า “หนูจะทำอย่างไรดีคะ หนูพ้นสภาพนักศึกษาแล้วค่ะอาจารย์” เมื่อผมได้ยิน ผมรู้สึกตกใจมาก เพราะอย่างที่ผมบอก เธอเป็นเด็กหัวดี ไม่เกเร ไม่ว่าผมมองยังไง ก็คิดไม่ออกจริงๆ ว่ามีอะไรผิดพลาดระหว่างการเรียน
สรุปแล้ว ดริ้งค์ใช้เวลาเรียนถึง 7 ปี และติดเอฟอีก 6 วิชา เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่ผิดหวังในตัวเองว่า “ตอนเรียนหนูมีวิชาที่ไม่ถนัด อาจารย์ที่สอนก็โหด ครั้งต่อมาก็ไม่กล้าเข้าเรียน จึงขาดเรียนเรื่อยๆ ทุกวิชา” ต้นเหตุเป็นเพราะ ความคิดฝังหัววัยเด็กที่ว่า “ถ้าฉันทำได้ไม่ดี ก็อย่าทำเลยดีกว่า”
ระหว่างที่เธอเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ผมมองเห็นความทุกข์ทรมาน ความสิ้นหวัง ความหวาดกลัวที่แสดงออกมาจากเด็กคนนี้ได้อย่างชัดเจน เธอได้แต่ร้องไห้ และคิดว่า “แม่จะเกลียดฉันหรือเปล่า? แม่ต้องไม่ชอบฉันแน่ๆ เลย เพื่อนๆ ก็คงจะดูถูกฉัน เพราะพวกเขาเรียนจบและทำงานกันหมดแล้ว และมองไม่เห็นเลยว่าตัวเองจะเรียนจบได้อย่างไร” ความสิ้นหวังได้เข้ามาเกาะกุมจิตใจของดริ้งค์
แต่ผมไม่คิดว่า เธอต้องทุกข์ทรมานพร้อมอธิบายว่า “สอบตกก็ดีแล้ว ในอนาคตเธอต้องไปเป็นครู เธอจึงเหมาะที่สุดที่จะเป็นครู และจะเป็นครูที่ดี เพราะถ้าครูเป็นคนที่ไม่เคยมีปัญหาในการเรียน ไม่เคยสอบตก ก็คงยาก ที่จะเข้าใจและเห็นใจเด็กนักเรียนที่มีปัญหา ถ้าเป็นครูแบบนี้ก็จะสามารถเป็นเพื่อนและเป็นครูที่ดีมากได้แน่ ผมเชื่อแบบนั้น”
ปัจจุบันมีเยาวชนมากมายที่กำลังเผชิญปัญหา เสียใจ ทุกข์ใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อน ครอบครัว การเรียน การปรับตัว และการใช้ชีวิต นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่กล้าปรึกษาปัญหาเหล่านี้กับใคร และคิดว่าตนเองจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้เอง แต่หากจัดการไม่ได้ ก็มีหลายคนที่เลือกหนีปัญหา หรือจบชีวิตตัวเองลง
ผ่านทางการให้คำปรึกษาปัญหาของเหล่านักศึกษา ทำให้ผมรู้สึกขอบคุณมาก เพราะพวกเขากล้าที่จะเปิดเผยในสิ่งที่รู้สึกยากลำบากและอับอาย มันไม่สำคัญว่าพวกเขาจะเผชิญความผิดพลาดมากแค่ไหน
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การพูดสิ่งที่คิดว่าน่าอับอายเหล่านั้นออกมา” เพื่อเปิดโอกาสให้คนรอบข้างยื่นมือเข้าช่วยเหลือ และได้เปลี่ยนจิตใจในการใช้ชีวิต
คิม ฮัก เชิล
ที่ปรึกษาอาวุโสประจำมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (IYF)