โพสต์โดย : Admin เมื่อ 16 ต.ค. 2561 21:25:31 น. เข้าชม 166399 ครั้ง
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ติง กพฐ.อย่ายึดติดผลคะแนนโอเน็ตต่ำจนต้องเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน หวั่น อาจเกิดเด็กแห่ติวกวดวิชามากขึ้น ชี้ ยกระดับคุณภาพการศึกษาที่แท้จริงต้องมีหลักคิดที่ดีกว่านี้
วันนี้ (14 ต.ค.) นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ดูปัญหาโรงเรียนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต มีผลโอเน็ตต่ำ และพบผู้อำนวยการโรงเรียนไม่เชี่ยวชาญวิชาการ พร้อมจี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สพฐ.) เร่งแก้ไข แนะเปลี่ยนผอ.โรงเรียนให้คนเดิมออกไปอบรมเรียนรู้เพิ่มเติมนั้น ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ประธาน กพฐ.มีความใส่ใจในการลงพื้นที่ติดตามปัญหาการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลมาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้น แต่การที่ ประธาน กพฐ.พบปัญหาโครงการโรงเรียนในฝัน มีความชำรุดทรุดโทรม ขาดอุปกรณ์การเรียน หรือบางโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและมีสภาพการบริหารจัดการที่มีปัญหานั้นในประเด็นนี้ตนเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากงบประมาณที่จะมาซ่อมบำรุงไม่เพียงพอ เกือบทุกโรงเรียนไม่มีนักการภารโรงที่จะดูแล ที่สำคัญการอยู่ใกล้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ไม่ได้หมายความจะต้องมีผลผลิตทางการบริหารเป็นเยี่ยมตามที่ผู้ใหญ่คาดหวัง
นายกฯส.บ.ม.ท. กล่าวต่อไปว่า ส่วนอีกประเด็นที่ ประธาน กพฐ.มองว่า หากคะแนนโอเนตต่ำก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนผู้อำนวยการนั้น ประเด็นนี้ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยึดเอาผลคะแนนโอเนตเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา แนวคิดเช่นนี้จึงทำให้เด็กๆต้องวิ่งกวดวิชา โรงเรียนประจำจังหวัดหรือแข่งขันสูงที่มีงบประมาณต่างก็จ้างติวเต้อร์มาทำการติวให้นักเรียน โรงเรียนที่ไม่มีงบประมาณจ้างเกือบทุกโรงเรียนต่างก็บรรจุวิชาโอเน็ตไว้ในตารางสอน จึงอยากให้ผู้ใหญ่ของ ศธ.ได้หยิบยกเอาแนวคิดและปรัชญาทางการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษามาเป็นหลักชัยในการวางแผนการจัดการศึกษาของประเทศ น่าจะดีกว่าการยึดถือคะแนนโอเน็ตเป็นสำคัญ และหากคิดจะย้ายปรับเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียนที่คะแนนโอเน็ตต่ำ ก็คงจะต้องย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมประจำตำบลเกือบทุกโรงเรียน รวมถึงโรงเรียนประถมศึกษาอีกหลายโรงเรียนที่มีที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร รวมถึงประเด็นที่ผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งเก่งวิชานาฏศิลป์ หรือด้านวิชาชีพ แต่ไม่เก่งวิชาการจึงทำให้คุณภาพโรงเรียนตกต่ำ เรื่องนี้ตนก็ไม่ทราบว่าความไม่เก่งวิชาการนั้นหมายถึงอะไร
"การบริหารโรงเรียนให้สำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับศาสตร์และศิลป์ของผู้บริหาร รวมถึงโอกาสของโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนที่จบการศึกษาวิชาเอกพลศึกษา บางคนจบการศึกษาวิชาเอกทางด้านอาชีพ แต่ก็สามารถบริหารโรงเรียนได้อย่างมีคุณภาพจนเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษานั้นต้นเหตุเกิดจาก ศธ.ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของครูและผู้บริหารในพื้นที่ที่สัมผัสกับสภาพปัญหาและรู้เหตุของปัญหา เปรียบเสมือนแม่ทัพนายกองที่บัญชาการรบในส่วนกลางฟังแต่ส่วนกลางแต่ไม่เคยที่จะรับฟังไพร่พลที่กำลังรบอยู่ในพื้นท่ีเลย ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วเมื่อไรจะรบชนะข้าศึกหรือชนะปัญหาได้ “นายรัชชัยย์ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2561