โพสต์โดย : Admin เมื่อ 31 ส.ค. 2563 07:20:42 น. เข้าชม 166546 ครั้ง
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากกลุ่มครูในพื้นที่ เมืองเชียงใหม่ที่จะเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย. 2563 นี้ว่า อยากฝาก
ถึงคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้ครูของกระทรวงศึกษาที่มอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานนั้น ควรเร่งแก้ปัญหาหนี้ครู ล่าช้าไม่ได้แล้วกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมแบบนี้
“ข้อมูล กลุ่มครูที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ตลอดจนสหกรณ์ มีการสำรวจ รายงานอย่างต่อเนื่องจากแต่ละที่ซึ่งคุณครูที่เป็นหนี้สังกัด ซึ่งคงไม่ต้องไปอายที่จะตอกย้ำว่า เฉพาะหนี้ครู กับ ธ.ออมสิน 3.9 แสนล้านบาท ธ.กรุงไทย 6 หมื่นล้าน ธ.อาคารสงเคราะห์ประมาณ 6 หมื่นล้าน และสหกรณ์ออมทรัพย์อีกราว ๆ 874,000 ล้านบาท รวมยอดหนี้ทั้งหมดก็จะราว ๆ 1.4 ล้านล้านบาท”
ครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษา หลาย ๆ ท่าน สังกัด สพฐ. ในเชียงใหม่ กล่าวว่า อยากแนะนำคุณครูรุ่น ๆ ใหม่ บริหารจัดการชีวิตด้านการเงินให้ดี เพราะหากมีหนี้สินเกินฐานะ จะส่งผลต่อจิตใจ ไม่มีประสิทธิภาพในการสอน แม้จะมีจิตวิญญาณของความเป็นครูเต็มเปี่ยม
“คุณครูส่วนหนึ่ง เกษียณไปแล้วก็ยังต้องมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน ต้องรอรุ่นลูกๆมาช่วยผ่อนชำระ บางครอบครัวเลิกเรียนต้องไปค้าขายตามกาดนัด ขายของออนไลน์ เพื่อหารายได้เสริม บางส่วนมีที่สวน ไร่นา อาจทำการเกษตรผสมผสาน เป็นอีกทางรอดของชีวิต ซึ่งจริง ๆ แล้ฐานเงินเดือนครูตั้งแต่เริ่มบรรจุ คิดแค่อัตราครูผู้ช่วย 15,050-19,900 บาท ตามช่วงเงิน จะมากน้อย แค่ไหน ถ้าคิดว่าไม่พอ ก็จะไม่พอ เส้นทางรับราชการพอขยับฐานจากครูผู้ช่วย จนถึง คศ. 1-5 ช่วงเงินเดือนสูงสุดก็ราว ๆ 60,840-76,800 บาท ใครเห็นฐานเงินเดือนครู ต้องมั่นใจว่าชีวิตสุขสบายในภายภาคหน้าแน่นอน ก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลในการบริหารจัดการชีวิต พอเริ่มรับราชการ ได้จังหวะเข้าเกณฑ์ 3 คน ช่วยกันค้ำ แย่งกันกู้ มีรถใหม่ ๆ ขับ ไม่นับรวมผ่อนบ้าน หนี้กยศ., บัตรเครดิต ท้ายที่สุดหากไม่ระมัดระวังการใช้จ่าย วังวนการแบกหนี้ ก็อาจจะส่งผลต่อการเรียนการสอน ส่งผลต่ออนาคตเด็ก ๆ ในแต่ละห้องเรียนที่รับผิดชอบได้”
ทั้งนี้ศูนย์ประสานงานการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากสถิติพบว่ามีคุณครูมากกว่า 4 แสนราย หรือ 80% ของครูทั่วประเทศหนี้สินล้นพ้นตัว เฉลี่ยรายละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ ช.พ.ค. โครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษา (สกสค.) 4 แสนล้านบาท และหนี้สหกรณ์ครู 7 แสนล้านบาท รวมแล้วกว่า 1.1 ล้านล้านบาท
“กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าใจบริบทการกู้ยืมเงิน อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สหกรณ์บางแห่งไม่สามารถลดดอกเบี้ย หรือพักชำระหนี้ได้ เนื่องจากสหกรณ์มีภาระที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้สมาชิก กรณีที่หักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการครู เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ก็ต้องยอมรับว่า เป็นหนี้ต้องจ่าย สถาบันการเงิน และสหกรณ์ มีระเบียบปฏิบัติ”
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินของครู จะมีทั้งพักชำระหนี้ ลดต้น ขยายเวลาการชำระหนี้ ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ คาดว่า มาตรการต่าง ๆ จะเริ่มดำเนินการได้หลังกันยายน นี้
งานการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาชี้ชัดมูลเหตุและสภาวะหนี้สิน พบว่าข้าราชการครูเริ่มมีหนี้สินหลังจากเข้ารับราชการ คิดเป็น 68.5% สาเหตุการเกิดหนี้สินสำคัญ 3 ข้อเลย คือ 1. ซื้อหรือผ่อน รถยนต์หรือจักรยานยนต์ 2. นําไปใช้จ่ายเพื่อดํารงชีพในชีวิตประจําวัน 3. ซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย แหล่งหนี้สิน 3 อันดับแรก คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ธนาคารของรัฐ และสวัสดิการคุรุสภา และอีกปัจจัยที่ทำให้ครูเป็นหนี้มากที่สุด คือการกู้เพื่อซื้อสะสมทรัพย์สิน สร้างฐานะทางสังคม เนื่องจากค่านิยมในสังคมไทยมองว่าครูเป็นผู้มีหน้ามีตา ต้องมีบ้าน มีรถ แบกหนี้ไม่ว่า แต่จะเสียหน้าไม่ได้
สำหรับสถาบันการเงินของรัฐ (ออมสิน) ระบุถึงมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูกลุ่มวิกฤติวงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท ที่ผ่าน
มามีการปรับโครงสร้างหนี้ ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือบังคับคดี พักชำระดอกเบี้ย แต่ให้ชำระเงินต้น โดยเงื่อนไข ระยะเวลาจะมี 2-3 ปี อยู่ที่สถานภาพลูกค้า ในการพิจารณาคัดกรองแยกกลุ่ม ซึ่งหนี้เสีย-เอ็นพีแอล จากหนี้ครู ไม่มากแล้ว จากผลพวงแผนสร้างวินัยจ่ายชำระหนี้ร่วม ๆ กันของหลายภาคส่วน
ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ยืนยันว่า การแก้ปัญหาหนี้ครู จะมุ่งเน้นให้คำปรึกษา และช่วยเหลือกลุ่มวิกฤตที่ค้างชำระกับธนาคาร 3 เดือนขึ้นไป จึงเป็นที่มาของการนำเอาเรื่องวิทยฐานะมาเป็นตัวสร้างวินัยทางการเงินของครูไทย ศธ.จะไม่นำเงินงบประมาณ มาช่วยชำระหนี้ให้ครูเด็ดขาด
“ครูเป็นเป็นผู้สร้างอนาคตให้กับเยาวชน หากเบี้ยวนัดชำระหนี้ กลุ่มที่ตั้งใจ ถือว่าไม่มีจรรยาบรรณ สังคมต้องช่วยพิจารณาว่าสมควรเป็นครูหรือไม่ จะมาอ้างเงินเดือนน้อย ตั้งแต่แรกบรรจุ ขอปรับฐานเป็น 2 หมื่นบาทขึ้นให้มีเงินเพิ่มตามบริบทสังคมที่ไปรับราชการ ทุกวันนี้ก็มีโครงการ มีมาตรการสนับสนุนบุคลากรทางการศึกษาหลาย ๆ ด้าน การแก้ปัญหาหนี้ครูที่ยั่งยืนต้องเริ่มที่ตัวคุณครู ถ้ายังยึดกรอบชุดความคิดเดิม ๆ ก็จะเป็นปัญหาจากรุ่นสู่รุ่น ตามแก้ไขกันไม่จบไม่สิ้น เพราะคำว่าหน้าตา เห็นด้วยกับการปรับฐานเงินเดือน อาชีพเฉพาะที่สร้างอนาคตเยาวชน แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องหารือร่วมกันกับหลาย ๆ ฝ่าย ครูเพาะบ่มเด็ก ๆ จนก้าวเติบใหญ่ไปตามสายงานอาชีพต่าง ๆ สำคัญต่อสังคมขนาดนี้ สังคมต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มครูด้วย ”