โพสต์โดย : Admin เมื่อ 6 ก.ย. 2560 16:40:10 น. เข้าชม 166403 ครั้ง
"หมอธี" ยันแทบไม่ต่างจากของเดิม
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.(...) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ว่าที่ผ่านมา พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูฯ (ฉบับที่2) พ.ศ.2554 กำหนดให้เปลี่ยนโครงสร้างบัญชีเงินเดือน ของข้าราชการครูฯ เป็นขั้นต่ำ-ขั้นสูง หรือการเลื่อนเงินเดือนแบบร้อยละ
แต่เนื่องจากกฎหมายบางตัวยังไม่รองรับ อาทิ มาตรา 73 ของ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ยังกำหนดให้เลื่อนเป็นขั้นเงินเดือน ก.ค.ศ. จึงจัดทำบัญชีเงินเดือนชั่วคราว ในการเลื่อนเงินเดือนใช้มาจนถึงปัจจุบัน จนมีคำสั่ง คสช.ที่ 16/2560 ให้แก้ไขคำว่าขั้นเงินเดือนในกฏหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นคำว่า "เงินเดือน"
สำหรับความแตกต่างระหว่าง กฎ ก.ค.ศ.เดิม กับกฎ ก.ค.ศ.ใหม่ที่เพิ่งผ่าน ครม. คือการปรับวิธีการเลื่อนเงินเดือน จากขั้นเงินเดือนเป็นแบบร้อยละ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ การประเมินผลการปฏิบัติงานในแต่ละปีงบประมาณ ดังนี้ รอบแรก 1 เม.ย. รอบที่สอง 1 ต.ค. และยกเลิกโควตา 2 ขั้น ซึ่งในส่วนนี้เมื่อคำนวณเงินเดือนที่ได้ปรับขึ้นตามระบบใหม่ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ส่วนเรื่องที่ให้เลื่อนเงินเดือนตามผลงานนั้น การเลื่อนขั้นเงินเดือนแบบที่ผ่านมาก็พิจารณาผลการปฏิบัติงานอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อ ครม.เห็นชอบในหลักการร่างกฎ ก.ค.ศ.ดังกล่าวแล้ว ยังต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ และต้องนำเข้า ครม.อีกครั้ง จากนั้น ก.ค.ศ.จะต้องออกแนวปฏิบัติ ซึ่งหากดำเนินการได้แล้วเสร็จได้ทันก่อนวันที่ 1 ต.ค.นี้ ข้าราชการครูฯ ก็จะใช้การเลื่อนเงินเดือนตามระบบใหม่
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าเป็นการปรับวิธีการขึ้นเงินเดือน และเท่าที่ทราบไม่กระทบกับการเรื่องเงินเดือนครู และแทบจะไม่แตกต่างกับแบบเดิม เพียงแต่ทำให้เหมือนกับข้าราชการพลเรื่องอื่น ๆ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐออนไลน์ 6 กันยายน 2560