โพสต์โดย : Admin เมื่อ 8 มี.ค. 2560 04:26:05 น. เข้าชม 166394 ครั้ง
รองเลขาธิการ กพฐ. เผย สพฐ.-ก.ค.ศ.จับมือปรับหลักเกณฑ์วิทยฐานะรูปแบบใหม่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หลังพบบางประเด็นยังไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง
วันนี้ (7 มี.ค.) ดร.สุจิตรา พัฒนะภูมิ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเชื่อมโยงกับวิทยฐานะ ตามนโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งหลักเกณฑ์การขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะรูปแบบใหม่ นั้น จะดูจากชั่วโมงบินการทำงาน โดยมีกรอบ ว่า เป็นครูผู้ช่วย 2 ปี ชำนาญการ 5 ปี ชำนาญการพิเศษ 5 ปี เชี่ยวชาญ 5 ปี และเชี่ยวชาญพิเศษ 5 ปี การจะเสนอขอเลื่อนวิทยฐานะในแต่ละขั้น ครูต้องมีชั่วโมงสอนต่อปีครบตามที่กำหนด เช่น ถ้าจะเลื่อนวิทยฐานะเป็นชำนาญการก็ต้องมีชั่วโมงสอน 4,000 ชั่วโมง เป็นชำนาญการพิเศษสอน 8,000 ชั่วโมง พร้อมกับเข้าคอร์สอบรมพัฒนาที่ได้รับรองมาตรฐานตามระดับวิทยฐานะ และ ชั่วโมงการเรียนการสอนแบบProfessional Learning CommunityหรือPLCโดยครูจะต้องมีแฟ้มผลงานของตัวเอง และให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้รับรองชั่วโมงการสอนของครู ผ่านระบบ Logbook
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่ยังไม่สิ้นสุด ดังนั้น สพฐ.และ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จึงได้ร่วมกันวิเคราะห์รวบรวมประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องให้การปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น จึงได้ฝากประเด็นให้ ก.ค.ศ.ดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฎิบัติได้จริง เช่น ภาระงานสอนของครูตามหลักเกณฑ์เดิม ส่วนราชการจะเป็นผู้กำหนดภาระงานสอนของครู แต่เมื่อนำ PLC มาใช้ทำให้ภาระงานสอนต้องเปลี่ยนไป ว่า จะเอาไปไว้ในส่วนไหนของชั่วโมงสอน หรือ จะนำไปไว้ในส่วนชั่วโมงสนับสนุนการสอน รวมถึงการรับรองหลักสูตรอบรมต่างๆ จะให้เป็นอำนาจของใครในการรับรอง เป็นต้น นอกจากนี้การปฎิบัติงานสอนของครูที่ครูจะต้องบันทึกข้อมูลลงในระบบปฎิบัติการ หรือ Logbook นั้น สพฐ.มีความเป็นห่วงครูในพื้นที่ห่างไกลอาจจะมีปัญหา เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง ดังนั้น ฝาก ก.ค.ศ.ช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ด้วย รวมถึงอยากให้กำหนดชัดเจนว่าวิทยฐานะจะใช้แทนผลงานวิชาการ หรือ การพัฒนาตนเอง เพื่อให้การใช้วิทยฐานะแนวใหม่มีประสิทธิภาพสูงสุด.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 7 มีนาคม 2560 เวลา 15.47 น.