โพสต์โดย : Admin เมื่อ 13 มิ.ย. 2561 18:44:09 น. เข้าชม 166382 ครั้ง
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการคูปองพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสรรงบประมาณให้ครูคนละ 10,000 บาท เพื่อเลือกช็อปปิ้งหลักสูตร เพื่อนำความรู้ และประสบการณ์จากการอบรมไปพัฒนาผู้เรียน ซึ่งปีงบ 2561 ถือเป็นปีที่ 2 ว่า โครงการคูปองครูมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียน แต่รอบปีที่ผ่านมายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับผู้เรียน ทั้งที่ใช้งบไปจำนวนมาก ไม่มีการติดตามผลว่าครูได้นำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาผู้เรียนหรือไม่ ต่างจากโครงการอบรมครูในอดีตที่มีการติดตามผล ตนได้พูดคุยกับครู และครูจำนวนมาก สะท้อนตรงกันว่าโครงการนี้ยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียน
ผศ.ดร.อดิศรกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการพัฒนาผู้เรียน แต่โครงการนี้ไม่ตอบโจทย์โดยสิ้นเชิง ถือว่าสอบตก ผมย้ำว่าการพัฒนาครูเป็นสิ่งจำเป็น แนวทางที่ทำอยู่ต้องปรับเปลี่ยน ต้องขอบคุณ นพ.ธีระเกียรติ ที่บอกว่าถ้าโครงการนี้ไม่ดี ก็เปลี่ยนได้ ไม่ได้ยึดติด ซึ่งมุมมองผม มองว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน ผมเคยสะท้อนไปแล้วการจัดอบรมครู ควรจัดภายในโรงเรียน ส่วนนอกโรงเรียน ต้องลดให้เหลือน้อยที่สุด
“ความผิดพลาดอีกประการของโครงการนี้ คือไปผูกติดกับเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ส่งผลให้ได้ตัวเลขผู้ลงทะเบียนอบรมมาก แต่ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพ เพราะ 1.ครูอบรมเพื่อจะได้ชั่วโมงอบรมสำหรับทำวิทยฐานะ อบรมเพื่อตัวเอง 2.ครูอบรมเพราะเป็นของฟรี เมื่อไม่ได้อบรมในโรงเรียน จึงเหมือนได้ออกนอกโรงเรียน เหมือนได้ไปเที่ยวฟรี ซึ่งเรื่องนี้จะว่าครูไม่ได้ 3.ซ้ำร้ายผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา สั่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ครูลงทะเบียนเข้าอบรม เพื่อให้เห็นตัวเลขเยอะๆ เพื่อสะท้อนถึงความสำเร็จของโครงการ ผู้อำนวยการโรงเรียนเลยขู่ครูว่าถ้าไม่ลงทะเบียนเข้าอบรม จะไม่ได้คงวิทยฐานะ และไม่ได้เงินวิทยฐานะ เช่น ที่ได้เงินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ 5,600+5,600 บาทอยู่ จะไม่ได้ และต้องถูกลดวิทยฐานะ เรื่องนี้มีครูจำนวนมากสอบถามผม แม้แต่ภรรยาผมที่เป็นครูด้วย ก็ยังมาถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เป็นการแอบอ้าง” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว
ผศ.ดร.อดิศรกล่าวว่า การคงวิทยฐานะตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กำหนดให้มีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ แต่การประเมินต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดทำขึ้น และ ก.ค.ศ. เห็นชอบ ซึ่งขณะนี้ ก.ค.ศ.ยังไม่ออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว
“ครูที่ต้องการมี/เลื่อนวิทยฐานะ เขาก็ต้องไปอบรมอยู่แล้ว แต่ครูที่มีวิทยฐานะอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ถูกบังคับกลายๆ โดยเอาเรื่องตัดเงินวิทยฐานะมาแอบอ้าง ต่างจากปีที่แล้วที่การอบรมเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่มีการขู่ หรือแอบอ้างเหมือนปีนี้ ฉะนั้น ตัวเลขครูลงทะเบียนจำนวนมากในปีนี้ ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพ เป็นตัวเลขหลอกๆ คนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไม่ใช่ผู้เรียน แต่เป็นหน่วยพัฒนาครูที่ได้เงินจากค่าจัด และครูที่ได้เก็บชั่วโมงอบรมเพื่อทำวิทยฐานะ” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว
ผศ.ดร.อดิศรกล่าวอีกว่า ครูต้องได้รับการพัฒนาเป็นระยะๆ แต่การอบรมต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น 1.อบรมในโรงเรียน 2.ให้คนนอกประเมินโครงการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง จากเดิมที่ สพฐ.ให้ครู และผู้อำนวยการโรงเรียนประเมิน 3.เนื้อหาการอบรมที่หวังผลต่อผู้เรียนนั้น ต้องตั้งโจทย์กันใหม่ โดยต้องมุ่งต้องตอบโจทย์ผู้เรียนยุคปัจจุบัน และอนาคต เช่น การบริหารจัดการห้องเรียน การผลิตสื่อ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน แทนที่จะเป็นกรอบเดิมๆ อย่าง PLC เป็นต้น สพฐ.อาจตอบว่าที่ผ่านมาก็มีเป้าหมายดังกล่าวอยู่ แต่ผลที่เกิดขึ้นยังไม่บรรจุซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจาก 1.หน่วยจัดยังไม่มีความสามารถพอ และ 2.คณะกรรมการสถาบันคุรุพัฒนาที่ทำหน้าที่พิจารณาเนื้อหาหลักสูตร อาจยังติดกรอบแนวคิดเดิมๆ ทั้งนี้ โครงการคูปองครูปีที่ 2 ถือว่า สพฐ.มีความพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากปีแรก โดยการทำตามคำแนะนำของหลายฝ่าย รวมถึง นักวิชาการ แต่ภาพรวมถือว่ายังไม่ตอบโจทย์พัฒนาคุณภาพ ไม่คุ้มค่างบประมาณ สำหรับตนถือว่าสอบตก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สพฐ.แถลงข่าวว่ามีครูลงทะเบียนอบรม 2.8 แสนคน ใช้งบ 1,400 ล้านบาท และมีหลักสูตรหายไปจากระบบ 334 หลักสูตร เนื่องจากไม่สามารถเปิดรุ่นได้ เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไข
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 11 มิถุนายน 2561 - 12:03 น.