โพสต์โดย : Admin เมื่อ 3 มี.ค. 2561 15:16:20 น. เข้าชม 166443 ครั้ง
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย กรุงเทพฯ เปิดเผยกรณีที่สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เรียกร้องให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สอบบรรจุผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการแทนตำแหน่งว่างว่า เห็นด้วยกับ ส.บ.ม.ท. เพราะสภาพปัจจุบันมีโรงเรียนที่ขาดผู้บริหารจำนวนมาก ทั้งโรงเรียนในกรุงเทพฯ โรงเรียนประจำจังหวัด และโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ บางแห่งขาดทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะขาดช่วงการสอบบรรจุไปนานถึง 1 ปี ทำให้โรงเรียนเสียโอกาสในการพัฒนา ที่สำคัญยังกระทบกับการบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แก้ปัญหาโดยสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่งตั้งผู้รักษาการ โรงเรียนไหนไม่มีทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ ก็ให้โรงเรียนใกล้เคียงรักษาการแทน ซึ่งผู้รักษาการก็ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ เพราะบางเรื่องต้องให้ผู้อำนวยการตัวจริงตัดสินใจ
“ที่ผ่านมาการสอบบรรจุผู้บริหารโรงเรียนหยุดชะงัก ทำให้เกิดปัญหามาก เพราะแม้แต่การย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้โรงเรียนเสียโอกาสในการพัฒนา ผู้บริหารและครูที่จะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารก็ขาดโอกาส ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ต้องการขอย้าย เช่น บางคนอาจจะอยากย้ายกลับไปทำงานยังภูมิลำเนาก็ทำไม่ได้ ดังนั้น ส่วนตัวจึงเห็นว่า หาก ก.ค.ศ.ไม่เร่งแก้ไขจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะผู้บริหารโรงเรียนเกษียณอายุทุกปี ซึ่งปัญหาฟ้องร้องเกิดจากการปรับแก้ระเบียบของ ก.ค.ศ.ที่ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม เมื่อมีช่องว่างจึงเกิดการฟ้องร้อง” นายวิสิทธิ์กล่าว
นายสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง กรุงเทพฯ กล่าวว่า เรื่องนี้มีปัญหามาก เท่าที่ทราบมีตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนที่ยังว่างอยู่กว่า 4,000 ตำแหน่ง ขณะที่โรงเรียนหอวังเองก็มีปัญหา เพราะรองผู้อำนวยการโรงเรียนว่าง 2 ตำแหน่ง ขณะที่ปีนี้ตนและรองผู้อำนวยการอีกคนจะเกษียณ หากไม่เปิดสอบบรรจุ ปีหน้าโรงเรียนหอวังจะมีรองผู้อำนวยการโรงเรียนคนเดียวรักษาการ แต่เท่าที่ทราบ ตอนนี้โรงเรียนที่มีปัญหามากที่สุดคือโรงเรียนมัธยมวัดบึงทองหลาง ไม่มีทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สพฐ.แก้ปัญหาโดยให้ สพท.ตั้งรักษาการ หรือให้โรงเรียนใกล้เคียงเข้าไปดูแลควบคู่ ทำให้เกิดปัญหา
“เรื่องนี้ ก.ค.ศ.ควรเร่งแก้ไข ผิดตรงไหนก็แก้ตรงนั้น ไม่ใช่นั่งรอคำสั่งศาลเฉยๆ เพราะผู้บริหารโรงเรียนเกษียณทุกปี การปล่อยให้โรงเรียนขาดผู้บริหารจะกระทบกับการพัฒนา อยากให้ ก.ค.ศ.ออกมาฟันธงว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้ สพฐ.แก้ปัญหาเอง” นายสวัสดิ์กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 2 มีนาคม 2561