โพสต์โดย : นักสืบ กิตติ เมื่อ 5 ก.พ. 2561 08:00:07 น. เข้าชม 166416 ครั้ง
วันนี้ (5 ก.พ.) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย แบบใหม่ ว่า ในการประชุมบอร์ด ก.ค.ศ.ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน กลางเดือนกุมภาพันธ์ นี้ ตนจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาปรับเนื้อหาการสอบสอบภาค ก ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพ ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับข้อสอบภาค ก ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)โดยตัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู ไปรวมไว้ในการสอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้เนื้อหาการสอบภาค ก เป็นการสอบความรู้พื้นฐานทั่วไป และการคัดเลือกครูจะเน้นหนักในการสอบภาค ข ซึ่งมีเนื้อหาในส่วนของวิชาชีพด้วย
เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนหน่วยงานที่จัดสอบภาค ก ของ ก.ค.ศ. นั้น เบื้องต้น ก.ค.ศ.เห็นว่า สถาบันทดสอบทาการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นหน่วยงานกลางที่ได้รับการยอมรับ แต่ต้องดูเรื่องการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ประกอบด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถเจาะจงเลือกหน่วยงานจัดสอบภาค ก ได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดสอบครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามหลักเกณฑ์ใหม่ ครั้งแรกได้ภายในเดือนสิงหาคม เพื่อบรรจุแต่งตั้งทันในภาคเรียนที่ 2/2561 หรือ ภายในเดือนกันยายนนี้
“สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเสนอว่า ในอนาคตอาจให้ใช้ผลสอบภาค ก ร่วมกับทาง ก.พ. คือ ผู้ที่สอบผ่านภาค ก ของ ก.พ.สามารถมาสมัครสอบครูได้ ขณะเดียวกันผู้ที่จบสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แล้วสอบภาค ก ของ ก.ค.ศ. ก็สามารถนำผลสอบไปใช้สมัครข้าราชการพลเรือนได้ด้วย ซึ่งหากบอร์ด ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบ ก็ต้องไปหารือและทำความตกลงกับทาง ก.พ.ในการใช้ผลสอบร่วมกัน หาก ก.พ.เห็นด้วยก็จะเป็นผลดีนอกจากประหยัดขั้นตอนแล้ว ทำให้ผู้ที่เรียนในสาขาทั่วไป และผู้ที่เรียนสายครูมีทางเลือกมากขึ้น ” นายพินิจศักดิ์ กล่าวและว่า ส่วนการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษานั้น เนื่องจากเพิ่งเริ่มใช้แนวทางคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ใหม่ ที่กำหนดให้มีการอบรม ก่อนการบรรจุแต่งตั้ง และมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงาน ทุก 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ครบ 1 ปี ของการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ดังนั้น เร็ว ๆ นี้สพฐ.จะสรุปผลการประเมินการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ หากผลออกมาดีก็จะขยายแนวทางดังกล่าวไปยังการคัดเลือกบุคลากรกลุ่มอื่นๆด้วย.
อ่านต่อที่ : เดลิวนิวส์ จันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.50 น.