โพสต์โดย : Admin เมื่อ 13 ต.ค. 2560 14:29:35 น. เข้าชม 166330 ครั้ง
สกศ.และ คณะกรรมการอิสระฯ ถก การศึกษานานาชาติสู่ปฎิรูปการศึกษาไทย ด้านผู้เชี่ยวชาญการศึกษาบริษัท McKinsey & Company แนะ 10 ประเด็นปฎิรูปการศึกษาไทยเห็นผลสำเร็จแน่
วันนี้ (3 ต.ค.) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมวิชาการเรื่อง “บริบทการศึกษานานาชาติสู่การปฎิรูปการศึกษาไทย” ซึ่งมี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษาไทย เป็นประธาน โดย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระฯได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาของบริษัท McKinsey & Company ซึ่งได้มีการหารือถึงทิศทางการปฎิรูปการศึกษาไทยใน 3 ประเด็น คือ 1.บทเรียนการปฎิรูปการศึกษาหรือการยกระดับคุณภาพโรงเรียนต่างๆทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จ 2.ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างไร และ 3.การศึกษาของประเทศไทยควรพัฒนาไปในรูปแบบใด ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลวิจัยเรื่องการศึกษาของประเทศต่างๆทั่วโลกพบว่า แม้จะมีการลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้น เช่น ประเทศลออสเตรเลียมีเม็ดเงินลงทุนการศึกษาถึง 270% แต่คุณภาพการศึกษาลดลง ขณะที่ประเทศไทยมีการลงทุนทางการศึกษามากเช่นกันแต่คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ ส่วนประเทศเวียดนามมีการลงทุนน้อยแต่คุณภาพการศึกษากลับดีกว่าประเทศไทย
“หากต้องการให้คุณภาพการศึกษาเพิ่มขึ้น ควรจะมุ่งไปที่คุณภาพครู เพราะหากคุณภาพครูสูงขึ้นก็จะทำให้คุณภาพเด็กดีขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน นอกจากนี้ทุกโรงเรียนควรจะมีผู้นำ โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องมีทักษะความเป็นผู้นำขั้นสูง ทั้งนี้การค้นพบการยกระดับคุณภาพโรงเรียนจากระดับต่ำสุดไปถึงดีเยี่ยมจะต้องมีชุดการพัฒนาคุณภาพเกิดขึ้น” เลขาธิการ สกศ.กล่าวและว่า ทั้งนี้บริษัทการศึกษานานาชาติได้มีข้อเสนอแนะ10 ข้อ ที่จะทำให้ปฎิรูปการศึกษาไทยยั่งยืน ได้แก่ 1.กำหนดความจำเป็นเร่งด่วนและเป้าหมาย 2.มีต้นแบบการเปลี่ยนแปลง 3.การจัดสรรงบประมาณรองรับปฎิรูป 4.สร้างแผนปฎิรูปตามช่วงเวลา 5.มีหน่วยเสนาธิการติดตามประเมินผล 6.ใช้กระบวนการแทรกแซงทั้งเชิงสนับสนุนและบังคับ 7.ติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ 8.เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ 9.สื่อสารเพื่อนสนับสนุนการปฎิรูปจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 10.สร้างการดำเนินงานอย่างเป็นระบบอย่างไรก็ตามจะนำข้อคิดจากผลวิจัยดังกล่าวมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง เพื่อวางกรอบแนวทางในการปฎิรูปการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ที่มา https://www.dailynews.co.th/education/602156