โพสต์โดย : Admin เมื่อ 5 ก.ย. 2560 02:15:41 น. เข้าชม 166448 ครั้ง
7 วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง ก่อนจะสายเกินแก้ เลี้ยงลูกยังไงให้พอดีในยุคโซเชียล
เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เราจะมองเห็นว่าลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น เอาแต่ใจมากขึ้น วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง จะทำยังไงให้ดีขึ้น เลี้ยงยังไงให้พอดี เอาวิธีดี ๆ มาบอกคุณพ่อคุณแม่ตรงนี้ค่ะ
ลูกเอาแต่ใจเป็นยังไง
เริ่มที่จะไม่ฟังคำที่พ่อแม่พูด ไม่ทำตามกฏเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ตั้งกันไว้ในบ้าน
ไม่หยุดทำเมื่อถูกห้าม ดื้อ ต่อต้านขึ้น
อยากได้หรือต้องการ ก็ต้องได้สิ่งนั้นให้ได้ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา
ทำตามใจตัวเองโดยไม่มีเหตุผล
มีความอดทนต่ำ โวยวาย เมื่อถูกต่อว่าหรือถูกกดดัน
มีอารมณ์ร้าย
แสดงความเป็นเด็กขี้เบื่อ และไม่มีสมาธิอยู่กับสิ่งใดนาน ๆ
วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง
สาเหตุที่ลูกเอาแต่ใจ เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูจากบุคคลใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย หรือพี่เลี้ยง ที่คอยยอมใจลูกหลานแบบไม่กำหนดขอบเขต ไม่คิดถึงเหตุผล แค่ลูกร้องหรือแสดงอารมณ์ก็ปล่อยตามใจ จนทำให้เด็กคิดว่าเมื่อทำสิ่งนี้ตนเองจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ บ่อยครั้งจึงเป็นความเคยชิน สร้างเป็นนิสัยเอาแต่ใจขึ้นมา เมื่อรู้สึกว่าลูกมีนิสัยเช่นนี้ พ่อแม่รีบแก้ไขด่วน ๆ
7 วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง ก่อนจะสายเกินแก้
วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง
1 กำหนดกฎเกณฑ์ให้ลูกอย่างเหมาะสมตามวัย
เด็กเล็กต้องการการดูแลจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิด และเรียนรู้ว่าอะไรทำได้ไม่ได้ ท่ามกลางความปลอดภัย การให้อิสระลูกเล่นในสถานที่ปลอดภัยและเหมาะสม บอกกติกาว่าสิ่งไหนควรทำไม่ควรทำ จะทำให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองและมีวินัย กว่าจะที่ใช้คำสั่งบังคับและไม่ให้ทำ
2 แยกแยะให้ออกเมื่อลูกร้องไห้
ในขณะที่ลูกยังไม่รู้วิธีการสื่อสารกับพ่อแม่อย่างชัดเจน สิ่งที่เขาแสดงออกได้ในตอนนี้ก็คือการร้องไห้เพื่อให้รู้ว่ากำลังเจ็บปวด หิว ไม่สบายตัว หรือกลัวอะไรบางอย่าง เหล่านี้พ่อแม่ควรให้ความสนใจกับลูกทันที แต่ถ้าเป็นการร้องไห้แบบรู้ว่าไม่เกิดอันตราย ร้องเพื่อเรียกร้องเอาในบางอย่าง อาจจะปล่อยให้ลูกร้องไห้เพื่อให้เข้าใจว่า หนูจะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการตอนนี้ และเข้าไปกอด ปลอบลูกด้วยคำพูดอ่อนโยนและใช้เหตุผล
วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง
3 อย่าปล่อยให้ลูกแสดงอารมณ์ร้ายจนได้ผล
ยกรางวัลดราม่ายอดเยี่ยมให้กับเจ้าตัวเล็ก เพราะเมื่อเด็กไม่พอใจ เอาแต่ใจ ก็จะแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจนให้พ่อแม่ได้รู้เพื่อใจอ่อน ยอมทำตาม ในสถานการณ์แบบนี้พ่อแม่ต้องสตรองเอาไว้นะคะ ยืนอยู่ห่าง ๆ ปล่อยให้ลูกปลดปล่อยอารมณ์โมโหซักระยะ เมื่อลูกค่อย ๆ หยุดแล้วจึงเข้าไปคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและบอกเหตุผลในสิ่งที่ทำให้ลูกจะไม่ได้
4 อย่าละเลยเรื่องระเบียบวินัย
สอนเรื่องนี้ให้ลูกตั้งแต่เล็กเพื่อติดนิสัยไปจนโต จะทำให้ลูกรู้จักควบคุมตนเอง มีความรับผิดชอบ มีหลักการและเหตุผลในการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องมากขึ้น โดยมีพ่อแม่คอยทำเป็นแบบอย่างนะคะ
5 สอนให้ลูกรู้จักการรอคอยและอดทนให้เป็น
การรอ จะช่วยทำให้เด็ก ๆ จัดการกับความหงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจได้ดีขึ้น
6 ไม่ชมเชยลูกมากเกินไป
การชมเชยถือว่าเป็นสิ่งดีเป็นกำลังใจในการต่อยอดที่จะทำต่อไปให้ดีขึ้น แต่การชมลูกมากเกินไป หรือซักแต่ว่าชม จะทำให้ลูกเหลิง และทำแต่เรื่องซ้ำ ๆ ในสิ่งที่พ่อแม่ชื่นชม จนไม่อยากจะทำสิ่งอื่นเพราะกลัวทำไม่ได้ดี การชมบ่อย ๆ จึงทำให้เด็กหยุดชะงัก เสียโอกาสที่จะไปพัฒนาในด้านอื่น ๆ นะคะ
7 ใช้เวลาคุณภาพกับลูก
ในปัจจุบันที่พ่อแม่หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน เวลาคุณภาพจึงอาจไม่ใช่เวลาที่ต้องอยู่กับลูกตลอดเวลา แต่เป็นการแบ่งเวลาที่ให้ทุกคนอยู่พร้อมหน้าทำกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมด้วยกัน เมื่อลูกได้เวลาในส่วนนี้ไปจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ไม่ว้าเหว่ ไม่คิดไขว่คว้าหรือร้องเอาแต่ใจ เพื่อหาของอื่นเพื่อมาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปได้นะคะ
เจ้าตัวเล็กที่พ่อแม่รู้สึกว่ากำลังเอาแต่ใจตัวเองอยู่ในตอนนี้ ถ้าไม่รีบแก้ไขก่อนที่จะเข้าสู่วัยเรียนหรือโตไปกว่านี้ จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหาได้นะคะ เพราะเมื่อลูกเข้าสังคมและมีพฤติกรรมเอาแต่ใจติดตัวไป อาจถูกปฏิเสธจากเพื่อน จากคนรอบข้าง ไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้ลูกขาดความสุข มีปมด้อย และมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นในแง่ลบ จนกลายเป็นความทุกข์ใจของพ่อแม่ ดังนั้นถ้าเห็นพฤติกรรมลูกเอาแต่ใจตัวเองอยู่ รีบหันมามองดูแล้วช่วยกันแก้ไข เลี้ยงลูกให้ดีกันค่ะ