โพสต์โดย : Admin เมื่อ 30 ก.ย. 2563 13:55:38 น. เข้าชม 166460 ครั้ง
ครู คือ ผู้ให้ความรู้ เสมือนพ่อแม่อีกคนที่ไม่ได้ผูกพันกันทางสายเลือด และโรงเรียนก็เหมือนบ้านอีกหลังที่เด็กๆ เข้ามาใช้ชีวิตเฉลี่ยวันละ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน หากครูและโรงเรียนคือฝันร้ายของเด็ก คือสถานที่ที่อันตรายสำหรับพวกเขา ที่ที่ปลูกฝังความกลัว ความรุนแรง เราจะนิ่งเฉยหรือลุกขึ้นทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ที่เรียกว่า ‘สถานศึกษา’ และเปิดโอกาสให้ครูที่มีพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรมได้ทำหน้าที่สร้างคนอย่างมีคุณภาพสู่สังคม
ทว่า ข่าวครูทำร้ายเด็กที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น นำไปสู่การตั้งคำถามถึงคนในอาชีพ ‘ครู’ เราจะไว้ใจให้เขาสอนลูกหลานเราได้มากแค่ไหน และค่าเทอมหลักแสนจะซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกได้จริงหรือ จุดประกายพาทุกคนร่วมพูดคุยกับ ดรุณี บุญวงค์ หรือครูดอกโศก ครูประจำชั้นประถมศึกษา โรงเรียนวัดป่าประดู่ เปิดใจถึงเส้นทางการเป็นครูที่ว่ายากแล้ว การเป็น ‘ครูดี’ ยากยิ่งกว่า
“นอกจากวุฒิการศึกษาและใบประกอบวิชาชีพแล้ว สิ่งแรกที่อาชีพครูต้องมี คือ คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ เช่น จิตใจที่เมตตาต่อศิษย์ ซึ่งสำคัญต่อการทำงานสายนี้มาก ต่อมาคือ ต้องมีความรู้ที่เหมาะกับวิชาที่สอน และที่ขาดไม่ได้เลยคือ มีจิตวิทยาในการเข้าใจเด็ก เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของเด็กในแต่ละช่วงวัย รวมถึงการควบคุมอารมณ์ของตัวเองด้วย”
ในส่วนของการคัดเลือกผู้ประกอบวิชาชีพครูตามระบบราชการไทยในปัจจุบันนั้น ด้านความสามารถทั่วไป และความรู้ต่อวิชาชีพหรือความสามารถเฉพาะวิชาชีพต้องผ่านการสอบข้อเขียนภาค ก และภาค ข จากนั้นเมื่อผ่านเกณฑ์คะแนน 60 เปอร์เซ็นต์ จึงจะมีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ในภาค ค โดยต้องมีแฟ้มสะสมงาน เกี่ยวกับประวัติการศึกษา ผลงานในวิชาเอกที่สำเร็จการศึกษา การเข้าถึงชุมชนและมีจิตอาสา และดูความสามารถในด้านการสอนประกอบกัน
จากข้อมูลบนเว็บไซต์คุรุสภา ระบุไว้ว่า การสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่คุรุสภารับรอง จึงจะมีสิทธิประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพควบคุมตามกฎหมาย และใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ที่จะเป็นหลักฐานแสดงคุณสมบัติของผู้ถือว่ามีเฉพาะมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูตามข้อบังคับคุรุสภา มีสิทธิประกอบวิชาชีพครู โดยอยู่ในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และเมื่อได้ปฏิบัติการสอนเป็นเวลาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้นำหลักฐานการผ่านการรับรองประสบการณ์การสอนจากสถานศึกษา ประกอบกับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่งใบอนุญาตปฏิบัติการสอนนี้มีอายุ 2 ปี และสามารถขอรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนได้อีกครั้งหนึ่ง
ทว่าในกรณีผู้มีหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ คุรุสภาถือว่าผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวยังไม่มีคุณสมบัติในการได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน แต่สถานศึกษามีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องการให้ผู้นั้นประกอบวิชาชีพครูในสถานศึกษา ต้องขออนุญาตจากคุรุสภา ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 แต่หากลาออกจากสถานศึกษาการอนุญาตดังกล่าวถือว่ายกเลิก ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการประกอบวิชาชีพครูได้ในสถานศึกษาอื่น
เมื่อผ่านการสอบทั้ง 3 ระดับดังกล่าวแล้ว จะได้รับการขึ้นบัญชีเพื่อรับการบรรจุอาชีพครู หลังจากนั้นจะถูกประเมินการทำงานประมาณ 2 ปี ซึ่งระหว่างนั้นจะอยู่ในตำแหน่ง ‘ครูผู้ช่วย’ เพื่อทดสอบคุณสมบัติการเป็นครูจากการทำงานจริง เช่นเดียวกับพนังงานบริษัทที่ต้องมีการทดลองงานแต่ต่างกันที่ระยะเวลาเท่านั้นเอง
นิยามของอาชีพครู คือการสร้างคนที่ดีมีคุณภาพสู่สังคม ซึ่งทำหน้าที่มากกว่าการให้ความรู้และการดูแลเด็ก ประโยคที่ว่ากันว่า “การเป็นครูต้องเป็น 24 ชั่วโมง” นั้น สะท้อนการทำงานของครูไทยได้ดีทีเดียว เพราะปัจจุบันครูทำงานในหลายมิติ ที่เป็นความรู้ คุณธรรมจริยธรรมและอื่นๆ
“อาชีพครูเป็นอาชีพที่ยากด้วยเหตุผลที่ว่า เราสร้างคน ซึ่งคนก็มีความหลากหลาย การแก้ปัญหาของเด็กหนึ่งคน ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ได้กับอีกอีกคนในวิธีการเดียวกัน โดยเฉพาะครูไทยยากที่สุด เพราะมีงานที่นอกเหนือจากงานสอนและการดูแลเด็ก ยังไม่รวมงานอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสอน เช่น งานธุรการและเอกสารต่างๆ งานกิจกรรมที่เพิ่มเข้ามา เคยมีให้ครูกรอกชั่วโมงการทำงานพิเศษหรือการทำงานนอกเหนือการสอนปรากฏว่ามีชั่วโมงเยอะว่างานสอนอีก”
ครูดอกโศกเล่าต่อว่า หลังสอนเสร็จครูบ้างคนต้องมานั่งทำงานเอกสาร เช่น งานธุรการต่างๆ เอกสารเบิกจ่ายพัสดุ ซึ่งก็จะกินเวลาไปถึงช่วงค่ำ ยังไม่รวมอีเวนท์ที่เป็นงานสังคม งานอบรมต่างๆ ที่ครูจะต้องเข้าร่วมในวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่มีเกือบทุกสัปดาห์
สังคมไทยคาดหวังว่าโรงเรียนต้องเป็นทุกอย่างของสังคม ทุกงานต่างมารวมกันไว้ที่โรงเรียน ไม่ว่าจะวัด โรงพยาบาลหรือสาธารณสุข เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ก็จะมารณรงค์กับทางโรงเรียน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์กับเด็กๆ แต่ในทางกลับกันกลายเป็นว่าภาระทุกอย่างตกอยู่ที่ครู ทำให้ภาระงานอื่นๆ พอกพูนขึ้นแซงหน้างานสอนไปมาก
“ถ้าครูมีเวลาสอนอย่างเต็มที่ มีเวลาเติมสิ่งที่เด็กแต่ละคนขาด เด็กก็จะมีคุณภาพมากขึ้น ดีกว่าเบียดเวลาสอนหรือเอาเวลาว่างจากสอนไปทำงานสำนักงาน”
อาชีพครูมีข้อควรปฏิบัติมากมาย หนึ่งในนั้นคือ 'การวางตัว' ครูไทยมักถูกสังคมวางไว้แล้วว่าจะต้องเป็นที่น่าเคารพนับถือ ดังนั้นเรื่องที่ทำให้เด็กได้รับอันตรายทั้งร่างกายและจิตใจจึงเป็นเรื่องต้องห้ามมากที่สุด เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ และการทำร้ายร่างกาย ซึ่งล้วนเป็นข้อหาที่ร้ายแรงทั้งคู่
อย่างกรณีครูโรงเรียนที่เป็นข่าวอยู่นั้น ครูดอกโศกมองว่า โรงเรียนเอกชนระดับนั้น ผู้ปกครองยิ่งคาดหวังสูงว่าลูกเขาต้องอยู่ในสังคมที่ดี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องถูกพะเน้าพะนอ เพราะเขาเสียเงินหลักแสนเพื่อซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงเกินไป และโรงเรียนเองก็ไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดี ถ้าฝ่ายบริหารมีการตรวจสอบความเป็นอยู่ของเด็กจากกล้องวงจรปิด ครูจะรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครูทำเหมือนเป็นเรื่องปกติ และที่น่าเป็นห่วงคือครูคนอื่นๆ ที่มองว่านี่ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ถ้าเราเป็นครูที่มีใบประกอบวิชาชีพ และมีผู้ช่วยครูกระทำเช่นนั้น เราจะต้องรายงานต่อฝ่ายบริหาร เพราะการกระทำต่อเด็กลักษณะนี้ไม่ควรเป็นเรื่องปกติที่ครูพึงกระทำ ถามตัวเองว่า ถ้าเราครูจริงๆ เราจะทำอย่างนั้นกับเด็กได้ลงคอเหรอ นี่มันกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดี และเราไม่ควรยอมรับ”
ถึงอย่างนั้นการลงโทษเด็กไม่ใช่ว่าไม่ควรทำเลย แต่ต้องไม่ให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ที่เป็นไปตามบริบทและไม่ใช่ความรุนแรงถึงขั้นได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะในเด็กเล็กระดับอนุบาล ต้องใช้จิตวิทยาในการสอนมากกว่าวัยอื่น ให้เหตุผลในการกระทำที่ไม่เหมาะสม เด็กจะเรียนรู้ว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างแผลใจในให้กับเด็ก ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและพัฒนาการในอนาคต
“เหตุผลส่วนใหญที่คนลงโทษเด็ก คือเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่มีเหตุผล เราก็เคยตีเด็ก เพราะเด็กบางคนก็ดื้อมากๆ แต่สิ่งสำคัญคือเด็กต้องรู้ว่าเขาทำผิดอะไร คุยกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ควรใช้ความรุนแรง เพราะความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหา และกลายเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้เขาด้วย”
ครูดอกโศกแนะนำว่า มีวิธีการลงโทษเด็กๆ อีกมากมายที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็กและสังคมด้วย เช่น การเก็บขยะ การกวาดถนน ทำความสะอาดห้อง ทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน
“ครูเคยเจอเหตุการณ์ที่เด็กทำอุปกรณ์ในห้องเรียนเสียหาย ด้วยความที่เด็กเขาก็กลัวถูกลงโทษก็ไม่มีใครยอมรับ ก็เลยให้เขาไปทบทวนร่วมกันทั้งห้องเลยว่าใครเป็นคนทำด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ สักพักเขาก็มายอมรับเอง จริงๆ รู้อยู่แล้วว่าเป็นใคร เพราะมีกล้องวงจรปิด แต่ไม่อยากชี้ อยากให้เขากล้าที่จะยอมรับผิดด้วยตัวเอง ปัญหาส่วนตัวไม่ใช่เหตุผลในการกระทำความรุนแรงต่อเด็กคนหนึ่ง ทุกคนต่างก็มีปัญหาในชีวิต และเด็กไม่ใช่ที่รองรับ หากจะบอกว่าครูก็คน เด็กก็คน ทุกคนคือคนเหมือนกัน ซึ่งเราไม่มีสิทธิไปทำร้ายคนอื่น”
นอกจากความรู้ในวิชาที่สอน ความซื่อสัตย์สุจริต ความรักและเมตตาต่อเด็ก ความศรัทธาต่อวิชาชีพครูแล้ว อีกสิ่งที่ ‘ครูดี’ รวมถึงทุกอาชีพพึงมีคือ 'การควบคุมอารมณ์ตนเอง' ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา และไม่ควรคิดว่าการสั่งสอนเด็กด้วยความรุนแรงเป็นเรื่องปกติที่ควรถูกสืบทอดต่อกันมา