โพสต์โดย : Admin เมื่อ 26 ธ.ค. 2559 10:59:58 น. เข้าชม 166465 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม โลกแห่งความเป็นจริงที่พ่อแม่ผู้ปกครองประสบยังไม่มีอะไรปรับเปลี่ยนไปตามกระแสการปฏิรูประดับชาติ กล่าวคือ วิธีการเรียนการสอนเดินตามแนวทางแข่งขัน เรียนเพื่อสอบ วัดผลที่คะแนน ซึ่งได้นำไปสู่การแบ่งแยกเด็ก ระหว่างเด็กเรียนเก่งกับเด็กเรียนอ่อน เด็กรวยกับเด็กจน ด้วยระบบการกวดวิชาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะยังคงอยู่และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่โรงเรียนบอกว่าต้องการฝึกฝนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น นำข้อสอบระดับชาติและระดับโลก (PISA) มาเป็นแนวทางพัฒนา
บทความนี้ต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ในระดับจุลภาค ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 วิชาคณิตศาสตร์ที่ต้องทำหน้าที่สอนการบ้าน ติวข้อสอบ ดูแลลูกหลังเลิกเรียน ซึ่งก็พบว่าครรลองของวิชานี้ไม่ได้แตกต่างจากวิชาอื่นนัก ดังกรณีศึกษาต่อไปนี้
กรณีศึกษาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ต้องการฝึกฝนนักเรียนให้สามารถคิดเลขไวและแข่งขันกับโรงเรียนอื่นได้ เมื่อเข้าไปดูแบบฝึกหัดและข้อสอบกลางภาคเรียนที่ 1 ประจำปี 2559 ที่ทำให้นักเรียนสอบตกจำนวนมาก พบว่า 1) แนวข้อสอบไม่ระบุขอบเขตของเนื้อหาชัดเจน ทำให้การเตรียมตัวยากลำบาก ผู้ปกครองต้องใช้เวลามากในการติวลูก เมื่อเทียบกับวิชาอื่นที่ไม่มีปัญหานี้ 2) การเตรียมตัวทำแบบฝึกหัดก่อนสอบมีเนื้อหาที่มากและยากเกินกว่าที่นักเรียนป.4 จะเข้าใจ 3) ผลลัพธ์คือ นักเรียนสอบตกจำนวนมากที่ไม่ปกติและไม่ควรเกิดขึ้น ด้วยสภาพนี้ ทำให้เกิดสมมติฐาน 2 ประการคือ 1) ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากพ่อแม่ผู้ปกครองที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาสอนการบ้าน ติวแบบฝึกหัดให้ลูก 2) การสอบตกบวกกับการเรียนการสอนที่รวบรัดกับเนื้อหาที่ยาก ทางออกเดียวนั้นคือ ไปกวดวิชาใช่หรือไม่
เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์สำหรับชั้น ป.4 ได้แก่
– พื้นฐานพีชคณิต ดังตัวอย่างแบบฝึกหัดด้านล่างนี้
– การถอดสแควร์รูท อนุกรม เลขยกกำลัง สมการ ทักษะการคิดคำนวณ คูณหารด้วยจำนวนมากๆ การแก้โจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนด้วยการใช้ภาษาที่ยุ่งยากสร้างความสับสนหรือหลอกล่อผู้เรียนได้ การแปลงหน่วยนับให้เหมือนกัน เช่น เมตรเป็นเซนติเมตร บาทเป็นสตางค์ ชั่วโมงเป็นนาที ที่มีความยากในแง่ที่ผู้ปกครองต้องช่วยสอน และทำโจทย์ข้อหนึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาทีกว่าที่ลูกจะเข้าใจ ท้ายสุดยังสอบตก 2 ครั้ง ทั้งสอบกลางภาคและปลายภาคการเรียนที่ 1 ดังภาพด้านล่างนี้
การประเมินว่าข้อสอบยากนั้นสามารถวัดได้อีกวิธีหนึ่ง คือ การที่มีนักเรียนจำนวนหนึ่งเรียนกวดวิชาจากสถาบันอื่น แล้วยังสอบตก หากไม่กวดวิชาก็อาจจะประสบปัญหามากขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยภายในของเด็กที่ยังไม่เก่งพอ ยังมีปัจจัยอื่นสมทบเข้ามาอีก คือ ครูผู้สอนที่สอนแบบรวบรัด ท่องจำ ไม่สามารถถ่ายทอดเทคนิคการคิดเลขได้อย่างเข้าใจ ต่างจากการเรียนวิชาดนตรีของภาคเอกชนที่มีการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไปและเต็มไปด้วยเทคนิครูปแบบแพรวพราว
ด้วยเหตุนี้ การตกอยู่ภายใต้กระแสการแข่งขัน การกวดวิชาที่เป็นการแสวงหาประโยชน์เฉพาะหน้าของครูอาจารย์ การเรียนเพื่อสอบไม่ได้เพื่อต้องการเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างจริงจัง และการวัดผลด้วยคะแนนเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ตัดสินคุณค่าของคนด้วยข้อสอบ ก่อให้เกิดความเครียด การดิ้นรน การถูกยัดเยียด การแย่งชิงเวลาว่างของเด็กเพราะการสอนในชั้นเรียนที่อ่อนแอ เปิดช่องโหว่ให้มีการแสวงหาประโยชน์ในที่สุด
ประเด็นถัดมา คือ การประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอกมีประเด็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำมากน้อยเพียงใด มีตัวชี้วัดอะไรที่สะท้อนถึงความอ่อนแอในกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงความสุขของผู้เรียนกับผู้ปกครอง ในการประเมินวัดผลความรู้ ทักษะ คุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนนั้นกลับมีกระบวนการที่ยากลำบากสำหรับผู้ปกครอง การหา ผลประโยชน์ของสถาบันกวดวิชา ที่น่าเป็นห่วงว่าการปฏิรูปการศึกษาจะจัดการปัญหาเหล่านี้ได้จริงหรือ
การระบุปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการบันทึกการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในมุมมองของผู้ปกครองนี้ ต้องการเสาะหาร่องรอยของคุณภาพการศึกษาที่ผู้เรียนควรคิดวิเคราะห์เป็นและสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐว่าแก้ไขปัญหาความไม่ยุติธรรมในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาได้จริงเพียงใด หวังว่าประเด็นที่หยิบยกมาจะเป็นประโยชน์ในการถกเถียงต่อไป ทั้งนี้ในฐานะผู้ปกครองไม่ต้องการให้ลูกเรียนเพื่อสอบและควักเงินให้กับสถาบันกวดวิชา