โพสต์โดย : Admin เมื่อ 10 ก.ย. 2563 12:11:27 น. เข้าชม 166447 ครั้ง
– หน้าที่ครูไม่ใช่แค่การสอน แต่มักเป็น ‘พยาน’ รับรู้ความเศร้าหมองและบาดแผลของนักเรียนที่พกติดตัวมาจากบ้านและชุมชน
– เมื่อต้องฟังแต่เข้าไปช่วยแก้ทุกสิ่งอย่างไม่ได้ นานวันเข้าจึงพัฒนาไปสู่ความเศร้าหมองทางจิตใจที่เรียกว่า ‘vicarious trauma‘ บาดแผลที่ได้รับจากการฟังเรื่องราวทุกข์ใจอย่างต่อเนื่องยาวนาน
– บทความนี้จะอธิบายว่าอาการของมันเป็นอย่างไร และวิธีแก้ไขเบื้องต้น คืออะไรได้บ้าง
– สิ่งสำคัญก็คือ การขีดเส้นแบ่งให้ชัดระหว่างความคาดหวังที่จะเกิดได้จริง เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวระหว่างใจตัวเองกับนักเรียน และมันโอเคนะ กับการบอกว่าครูเข้าไปแก้ปัญหาทุกอย่างของนักเรียนไม่ได้ทุกเรื่องจริงๆ
‘With Student Trauma, It’s OK to Set Boundaries’
คือชื่อบทความที่แปลเป็นไทยคู่กับบริบทภายในเรื่องได้ว่า “กับบาดแผลของนักเรียน มันโอเคที่ (ครู) จะกำหนดขอบเขตว่าจะซึมซับ รับฟัง และเข้าไปแก้ปัญหาของนักเรียนได้แค่ไหน” พร้อมกำชับในพาดหัวรองว่า วิธีนี้ไม่ใช่แค่ความคิดหรือคำคมแสนสวยงามชุบชูใจ แต่เป็นเรื่อง ‘จำเป็น’
ที่มาของเรื่องก็คือ หน้าที่ครูไม่เคยใช่แค่การสอน แต่ครูมักเป็น ‘พยาน’ รับรู้ความเศร้าหมอง บาดแผลของนักเรียนที่พกติดตัวมาจากบ้าน จากชุมชน จากความสัมพันธ์แสนเปราะบาง จากประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาเอง ทั้งหมดนั้นระบายออกผ่านสีหน้า วิธีพูด คิด การตอบสนอง พฤติกรรมในห้องเรียน และความสามารถในการเรียนรู้
ทั้งหมดนี้ทำให้ครู แม้ไม่ได้มีบาดแผลทางตรง แต่เมื่อรับฟังหรือร่วมรับรู้ -ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง – แบบวันต่อวัน จึงอาจเรียกว่าเป็นหนึ่งในพยาน หัวใจของครูถูกกระทบ และนั่นนำมาซึ่งอาการ – ใช่แล้ว นักวิชาการสุขภาพจิตและนักจิตวิทยา ระบุว่ามันคืออาการ ‘vicarious trauma’ หรือ บาดแผลที่ได้รับจากการฟังเรื่องราวทุกข์ใจอย่างต่อเนื่องยาวนาน
บทความชิ้นนี้สัมภาษณ์ ไมเซียร์ คีลส์ (Micere Keels) ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยชิคาโก และผู้ก่อตั้ง TREP Project หน่วยงานที่ให้คำแนะนำแก่ครูเรื่องการจัดการกับบาดแผลของทั้งนักเรียนและตัวครู ประเด็นเรื่อง จะรู้ได้อย่างไรว่าครูถูก vicarious trauma เล่นงาน อาการเป็นอย่างไรบ้าง และจะรับมือกับมันได้อย่างไร
vicarious trauma คืออะไร?
อันที่จริงแล้วความทุกข์ยากอันถูกหล่อหลอมจากความกดดัน และถูกเล่นงานในเชิงอารมณ์ (emotional) เกิดขึ้นกับทุกวิชาชีพ แต่เฉพาะบาดแผลชั้นสองจากการรับฟังชีวิตที่มีปัญหาของคนอื่น หรือ vicarious trauma ทำให้ครู – ซึ่งไม่ใช่นักจิตวิทยา อาจทำให้เป็นปัญหาเฉพาะของวงการครูผู้สอน
คีลส์อธิบายว่า มาตรวัดของ vicarious trauma คือเมื่อคุณและคนรอบข้างเริ่มสังเกตได้ว่าคุณตกอยู่ในความเศร้าล้ำลึก ยากจะถอนความรู้สึกออกมา เป็นความอ่อนล้าโรยแรงอย่างที่คุณคิดว่าอาจเป็นอาการ ‘หมดไฟ’ (burnout) จากการทำงานปกติ
แต่ถ้าลองเปรียบเทียบตัวเองในช่วงเวลาปกติ แล้วคุณพบว่าตัวเองเศร้าบ่อย โกรธบ่อย กระวนกระวายบ่อย นำไปสู่ความเครียดอื่นๆ ที่เแสดงออกผ่านร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ท้องผูก เครียดลงกระเพาะ ไร้เรี่ยวแรงไม่อยากลุกขึ้นทำสิ่งใด
จากนั้นคุณอาจเริ่มรำคาญสมาชิกในบ้าน โดดเดี่ยวตัวเองจากเพื่อนฝูง สำคัญก็คือ คุณเริ่มถอยตัวเองจากเรื่องราวของนักเรียน ไม่รู้สึกอะไรต่อความทุกข์ยากที่อยู่ตรงหน้า และเริ่มแสดงท่าทีเชิงลบต่อนักเรียนและเพื่อนร่วมงานของตัวเอง
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะดูเบาแล้วปล่อยให้มันผ่านไป เพราะนอกจากมันจะค่อยๆ กลืนกินตัวคุณจนมีผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและที่ทำงาน ยังเป็นการเพาะเชื้อความเศร้า ลุกลามจนพัฒนาเป็นความป่วยไข้ทางจิตใจในขั้นต่อไปด้วย
แต่คีลส์ย้ำว่า มันเป็นเรื่องปกติที่ครูจะรู้สึกไร้ซึ่งความหวัง ไร้ความกระตือรือร้นเท่าที่เคยเป็น เพราะหลายครั้งสิ่งที่ครูรับฟังเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่อาจแก้ไขหรือช่วยอะไรได้ (นอกจากรับฟัง) แต่ในเมื่อต้องเป็นผู้ฟัง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกว่า ต้องเข้าไปรับผิดชอบ รู้สึกท่วมท้นด้วยความรู้สึกหลากหลาย ครูอาจรู้สึกว่า ถ้าครูไม่เข้าไปช่วย ครูกำลังทำลายความไว้ใจของนักเรียน ครูจะทำความหวังของนักเรียนร่วงหล่น
แต่… ด้วยข้อจำกัดการเป็นมนุษย์และหน้าที่ ไม่ใช่ทุกเรื่องที่คุณ (และ) ครูจะเข้าไปแก้ไขได้
วิธีดูแล (ความรู้สึก) ตัวเอง
ก่อนทุกอย่างจะระเบิด คีลส์แนะนำวิธีดูแลตัวเองที่ปรับใช้เพื่อบรรเทาอาการ พยานและบาดแผลชั้นที่สองของนักเรียน สำคัญแค่ว่า ต้องยอมรับก่อนว่าปัญหาแบบนี้มีอยู่จริง จึงจะนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหา ซึ่งมีตัวอย่างหรือไอเดียง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1. ผ่อนปรนนโยบายการเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการโดดเดี่ยว’
หาเพื่อนร่วมงานที่คุณไว้ใจพอจะเล่าปัญหา ความอ่อนไหวอ่อนแอของคุณให้ฟังได้ (ในที่นี้ เพื่อนร่วมงานสำคัญมากเพราะต่อให้เป็นเพื่อนสนิท ก็ไม่เข้าใจเพราะไม่เห็นบริบท เห็นข้อจำกัดในงานทั้งหมด – ผู้เขียน) วิธีนี้จะทำให้คุณเห็นว่าคุณไม่ได้ไร้ประสิทธิภาพ สถานการณ์ที่เผชิญอยู่เป็นเพียงอุปสรรคหนึ่งในการทำงานเท่านั้น และยังได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ด้วย
2. พัฒนาตัวเองสู่การเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหา’
คีลส์กล่าวว่า หนึ่งในสิ่งท้าทายที่สุดในการทำงานกับนักเรียนซึ่งล้วนแต่มีปัญหาชีวิตหนักเบาไม่เท่ากัน (แต่มาพร้อมกันทีเดียวก็เล่นเอาหนัก) คือการที่ครูคนนั้นพัฒนากระบวนการดูแลจิตใจของตัวเองและนักเรียนได้
คีลส์เล่าว่า สิ่งที่เธอได้ยินจากครูมากที่สุดก็คือ “สิ่งที่ยากที่สุดจนอยากจะลาออกไปเลย คือรู้ว่าสิ่งที่คุณทำมันไม่เวิร์ค แต่ก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร” หมายความว่า คงจะดีไม่น้อยถ้ามีการรวมตัวครู การจัดเวิร์คช็อปเพื่อให้ครูได้คิดหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน หรือถ้ามีเวิร์คช็อปเหล่านั้นแล้ว อย่ารีรอที่จะเข้าไปทดลองดูว่า กระบวนการเหล่านั้นมันเหมาะกับเราไหม ได้หรือไม่ได้ผลอย่างไร
เธอยกตัวอย่างโรงเรียนประถมศึกษาฟอล-แฮมิลตัน (Fall-Hamilton Elementary) เมืองแนชวิลล์ (Nashville) ใช้วิธี ‘แปะมือ’ หรือ tap-in/tap-out คือ ในกรณีที่ครูเจ้าของวิชานั้นรู้สึกว่ามีความเครียดในห้องเรียนมากเกินไป ก็ให้เมสเสจหาเพื่อนครูด้วยกันเข้ามารับช่วงอีกต่อหนึ่ง เมื่อรู้สึกว่าความเข้มข้นด้านความรู้สึกของตัวเองบรรเทาลงแล้ว ค่อยเข้าไปในห้องเรียนนั้นใหม่
วิธีการอะไรก็ได้ที่ถูกคิดร่วมกันเพื่อบรรเทาความเครียดที่ท่วมท้นของคุณครู
3.ขีดเส้นแบ่งให้ชัดระหว่างความคาดหวังที่จะเกิดได้จริง และเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวระหว่างใจตัวเองกับนักเรียนความช่วยเหลือและขุมกำลังใจที่ไม่มีวันหมด, อาหาร, ความสัมพันธ์แบบผู้พิทักษ์, การดูแลในชีวิตประจำวัน ความต้องการเหล่านี้เกินกว่าสิ่งที่ ‘ครู’ คนหนึ่งจะจัดสรรให้ได้แม้จะโหดร้าย แต่คีลส์ย้ำกับครูที่เผชิญปัญหาทุกคนว่า จงสรรเสริญตัวเองทุกครั้งที่ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุด ท่ามกลางข้อจำกัดของตัวเองต่อนักเรียนคนนั้น และบอกกับเขาว่า ครูมีข้อจำกัดที่ไม่อาจทำสิ่งที่เกินขอบเขตการเป็นครูได้มากไปกว่านั้น อีกครั้ง… จงโอบรับทุกความสำเร็จที่คุณได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการ์ดขอบคุณจากเด็กๆ หลังจากพวกเขาเข้ามหาวิทยาลัยหรือประสบความสำเร็จตามที่พวกเขามาดหมาย อ้อมกอดแสนอบอุ่นหลังพบคุณโดยบังเอิญระหว่างเดินสวนกันบนถนน และบอกว่าคุณคือแรงบันดาลใจต่อชีวิตของเขาในวันนี้มากแค่ไหน
“จงจดจำทุกข้อความของนักเรียนแต่ละคน แม้สิ่งที่คุณทำอย่างเต็มที่ คือการซัพพอร์ตจิตใจของเขาเท่านั้น เพราะนั่นคือสิ่งที่คุณได้ทำ คุณไม่ได้ล้มเหลว เป็นเพียงอุปสรรคหนึ่งของอาชีพครูเท่านั้น” คีลส์ฝากประโยคสำคัญเอาไว้
ขอบคุณข้อมูลจาก : edutopia.org และ www. thepotential.org