การจัดอันดับเว็บไซต์มหาวิทยาลัยโดยระบบ 4 International Colleges & Universities (4icu.org) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ มีสานักงานอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ดำเนินการจัดอันดับความนิยมเว็บไซต์ ของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศและทั่วโลกมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005 โดยรายงาน ผลปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคม มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดอันดับความนิยมของมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยนานาชาติ บนพื้นฐานของความนิยมในการเข้าติดตามชมเว็บไซต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะเป็น เว็บไซต์ที่ช่วยให้นักศึกษานานาชาติได้เข้าใจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยนานาชาติมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การที่เว็บไซต์ที่มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน และมีการ Update ข้อมูลข่าวสารที่สม่ำเสมอจะถูกนำมาใช้ในการ พิจารณาจัดอันดับอีกด้วย
การจัดอันดับเว็บไซต์มหาวิทยาลัย โดยระบบ 4 International Colleges &Universities (4icu.org) ไม่มีการรายงานเกณฑ์ที่ใช้จัดอันดับ เนื่องจากเหตุผลทางลิขสิทธิ์ และป้องกันการสร้างข้อมูล เพื่อให้ผลการจัด อันดับดีขึ้น ทั้งนี้ได้อ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลอิสระที่เป็นเครื่องมือในการการสืบค้น โดยใช้ตัวกลางอิสระ เพื่อวัดประสิทธิภาพของเว็บไซต์ที่สกัดจาก ห้าเครื่องมือค้นหาที่แตกต่างกัน ได้แก่ Moz Domain Authority , Alexa Global Rank ,SimilarWeb Global Rank ,Majestic Referring Domains ,Majestic Trust Flow
ซึ่งผลดังกล่าวเป็นการจัดอันดับเว็บไซต์มหาวิทยาลัยของ 4icu.org ปี 2017 ล่าสุด มีสถาบันการศึกษาถูกจัดอันดับ จำนวน 12,358 แห่ง จาก 200 ประเทศ โดยปีนี้มี 3 มหาวิทยาลัยไทยที่ติด Top 100 Universities and Colleges in Asia ของเอเชียคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อันดับที่ 1 ของประเทศ อันดับที่ 40 ของเอเชีย และลำดับที่ 459 ของโลก รองลงมาเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อันดับที่ 2 ของประเทศ อันดับที่ 51 ของเอเชีย และลำดับที่ 554 ของโลก และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้อันดับที่ 3 ของประเทศ อันดับที่ 62 ของเอเชีย และลำดับที่ 598 ของโลก
เรารู้จักมหาวิทยาลัยรัฐบาลไปเยอะแล้ว วันนี้ขอเสนอบทความสำหรับ มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของไทยว่ามีที่ไหน ติดอันดับโลกบ้าง แหละนี่คือ 10 อันดับ มหาวิทยาลัยเอกชน ยอดฮิต ปี 2017 โดย 4ICU.org
อันดับ 10 : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ภายใต้เจตนารมณ์ของ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และอาจารย์สนั่น เกตุทัต โดยใช้ชื่อสถาบัน "ธุรกิจบัณฑิตย์" ตั้งอยู่ริมคลองประปา ถนนพระราม 6 สามเสน ในยุคเริ่มต้น ต่อมาจึงเปลี่ยนสถานภาพเป็นวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในปี พ.ศ. 2513 และเลื่อนฐานะเป็น "มหาวิทยาลัย" ในปี พ.ศ. 2527
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในปัจจุบัน
เมื่อมีการพัฒนามากขึ้น และมีการขยายตัวของระบบการศึกษาในประเทศ มหาวิทยาลัยจึงย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่ริมคลองประปา ถนนประชาชื่น บนเนื้อที่ 130 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการทางการเรียนการสอน สิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรอง ISO 9001 : 2008 ทั้งระบบ ทุกคณะวิชา ทุกหน่วยงาน ในองค์กร มหาวิทยาลัยถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีสภาวะแวดล้อมสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของสถานศึกษาในประเทศไทย ภายใต้ปรัชญาการดำเนินงานที่ว่า "นักธุรกิจเป็นผู้สร้างชาติ" โดยมี ดร.อรัญ ธรรมโน เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ เป็นอธิการบดี
อันดับที่ 9 : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่เดิมจัดตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยมหานคร” ในปี พ.ศ.2533 เนื่องจากช่วงนั้นเป็นยุคที่ประเทศไทยขาดแคลนวิศวกร โดยเปิดดำเนินการสอนเพียงหนึ่งคณะวิชา คือ “คณะวิศวกรรมศาสตร์” ต่อมาได้รับการอนุญาตให้เปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2535 ในนาม “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร” ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเปิดดาเนินการสอน คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะสัตวแพทยศาสตร์, คณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะบริหารธุรกิจ
อันดับที่ 8 : มหาวิทยาลัยสยาม
มหาวิทยาลัยสยาม เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 ใน 5 สถาบันแรกของประเทศไทย ได้รับการริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2508 และได้สถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยอาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ใช้ชื่อเดิมว่า "วิทยาลัยเทคนิคสยาม" ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น "มหาวิทยาลัยเทคนิคสยาม"[2] และเปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยสยาม" ในลำดับต่อมา
มหาวิทยาลัยสยาม ได้รับการรับรองให้เป็นภาคีสมาชิกของสมาคมมหาวิทยาลัยนานาชาติ (International Association of Universities-IAU) สมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ (International Association of University Presidents) ซึ่งอธิการบดีได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการบริหารสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยยังได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกของสมาคมการศึกษาขั้นอุดมศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of South East Asian Institutions of Higher Learning-ASAIHL) สมาคมสถาบันการศึกษาด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยวแห่งภาคพื้น ยุโรป (EUHOFA) และสมาคมฝึกอบรมและพัฒนาองค์กรแห่งภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Asian Regional Training and Development Organization-ARTDO) และเป็นพันธมิตรทางการศึกษากับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างประเทศชั้นนำกว่า 54 สถาบันทั่วโลก
อันดับ 7 : มหาวิทยาลัยศรีปทุม
มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็น 1 ใน 5 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรก ๆ ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย โดย ดร.สุข พุคยาภรณ์ ผู้ยึดมั่น ในปรัชญา “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” ที่ต้องการทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ด้วยการสร้างสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความเจริญให้แก่ประเทศชาติ
มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "ศรีปทุม" และพระราชทานความหมายว่า "เป็นบ่อเกิดแห่งวิชาที่เบิกบานเช่นดอกบัว" พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดป้ายนาม "ศรีปทุม"
นับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 45 ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านวิชาการ เทคโนโลยีกายภาพและสิ่งแวดล้อม กิจการนักศึกษา กีฬา รวมถึงศักยภาพในการ แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถของคณาจารย์ และนักศึกษา เพื่อรองรับพันธกิจหลัก 4 ประการ ของสถาบันอุดมศึกษา คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ และเป็นกำลังใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก้าวไปข้างหน้า เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาค” อย่างแท้จริง
อันดับ 6 : มหาวิทยาลัยพายัพ
คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนทเข้ามาประกาศเผยแพร่ครั้งแรกในประเทศไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในปี พ.ศ. 2371 โดยคณะมิชชันนารีจากอังกฤษ คือ คณะลอนดอนมิชชันนารีโซไซเอ็ตตี้ (London Missionary Society) ต่อมาได้ติดต่อประสานงานให้คณะมิชชั่นอื่น ส่งมิชชันนารีเข้ามาประกาศเผยแพร่ด้วย เช่น มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น เข้ามาประกาศเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2383 ในช่วงแรกประกาศเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2404 ทางราชการประกาศอนุญาตให้ออกไปเผยแพร่ทำการประกาศนอกกรุงเทพฯได้ จึงส่งมิชชันนารีไปทำงานที่เพชรบุรี และในปี พ.ศ. 2410 ได้เข้ามาประกาศเผยแพร่ที่เชียงใหม่ ลักษณะการเผยแพร่ประกาศคริสต์ศาสนาสิ่งหนึ่งคือ การตั้งโรงเรียนเป็นสถานศึกษาแบบตะวันตก จัดสอน การเรียนการศึกษาแบบตะวันตกแก่เด็กชายและเด็กหญิง เป็นการเตรียมผู้นำสำหรับคริสตจักร และการบริหารโรงเรียน การดำเนินการพันธกิจด้านการศึกษาของมิชชั่น ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีการตั้งโรงเรียนในจังหวัดต่าง ๆ ที่มิชชั่นเข้าไปดำเนินการ รวมทั้งมีการตั้งโรงเรียนในคริสตจักรต่าง ๆ ที่มีความพร้อมด้วย ดังนั้นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มิชชั่นจึงมีแนวความคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยคริสเตียนขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 วิทยาลัยพายัพได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยเปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัย เป็น “มหาวิทยาลัย” และมหาวิทยาลัยพายัพได้ดำเนินการพัฒนาในด้านการเรียนการสอนมาโดยลำดับจนปัจจุบันนี้ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 9 คณะ 24 สาขาวิชา เปิดสอนภาคค่ำในระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) และปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี และเปิดสอนระดับปริญญาโทอีก 5 สาขาวิชา นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยพายัพได้พยายามปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตตามแนวทางที่ตอบสนองความต้องการของสังคมอยู่ตลอดเวลา มหาวิทยาลัยพายัพได้ปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆของสถาบันอุดมศึกษาได้ช่วยสนับสนุนให้การจัดการศึกษาและการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับได้ว่ามหาวิทยาลัยพายัพได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติตลอดมา
อันดับ 5 : มหาวิทยาลัยรังสิต
มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เริ่มดำเนินการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2529 ในนามของวิทยาลัยรังสิต ต่อมาได้รับการเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีสถาปนามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2533 นับเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตยังได้เปิดดำเนินการหลักสูตรนานาชาติ โดยจัดสอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเปิดสอนระดับปริญญาตรี คือ สาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ สาขาวิชาระบบและการจัดการสารสนเทศ และเตรียมการสำหรับหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดสอนเพิ่มเติม ทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษานอกจากนี้มหาวิทยลัยรังสิตยังได้เข้าร่วมโครงการ University Studies Aboard Consortium (USAC) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการกว่า 400 แห่งและมหาวิทยาลัยรังสิตได้รับเลือก ให้เป็นผู้แทนในภูมิภาคเอเซีย
อันดับ 4 : มหาวิทยาลัยหัวเฉียว
“มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” ก่อกำเนิดมากจาก “วิทยาลัยหัวเฉียว” ซึ่งมีรากฐานเติมโตมาจากโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยก่อตั้งโดยมูลนิธิป่อเต็มตึ๊ง ที่ก่อเกิดขึ้นจากพลังศรัทธาในคุณธรรมแห่ง “ไต้ฮงภิกขุ” ผู้ก่อตั้ง “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” หรือ “มูลนิธิป่อเต็งตึ๊ง” ในปัจจุบัน โดยมีภารกิจในการบำเพ็ญทาน การสร้างสถานพยาบาลและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อมวลชน รวมถึงการทำงานด้านการศึกษา โดยเปิดสอนหลักสูตรพยาบาล ในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตรแรก ก่อนที่จะได้รับการยกสถานะเป็น “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” ในปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ในวาระที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีวาระครบรอบ 80 ปี จึงได้ระดมทุนจากชาวไทยเชื่อสายจีนเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เมื่อได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัย จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ““มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดมหาวทิยาลัย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 โดยจัดว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาเป็นประธานเปิดมหาวิทยาลัยให้ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยให้กับของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งไม่เคยเป็นประธานเปิดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งใดเลย จึงเป็นผลนำมาซึ่งความปลาบปลื้มและนับเป็นสิริมงคลอันใหญ่หลวงแก่ชาวมหาวิทยาลัย และชาวจีนโพ้นทะเลในดินแดนสยาม ที่ได้ร่วมมือกันก่อตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหัวเฉียวได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านจีนศึกษาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
อันดับ 3 : มหาวิทยาลัยหอการค้า
หาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันการศึกษาเอกชนระดับอุดมศึกษา ที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมี "หอการค้าไทย" เป็นเจ้าของ และได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจในประเทศไทย ประกอบด้วย 8 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ รวมถึง 2 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยผู้ประกอบการ และวิทยาลัยนานาชาติ โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมทั้งหลักสูตรนานาชาติ
ตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยึดมั่นในนโยบายและภารกิจที่จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีคุณธรรมเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นบัณฑิตมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทุกคนต่างได้รับการบ่มเพาะความรู้และทักษะเชิงธุรกิจ ดังนั้น เป้าหมายของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคือ การพัฒนาเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจในระดับเอเชีย
อันดับ 2 : มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เริ่มแรกนั้นได้รับการก่อตั้งในชื่อ “วิทยาลัยไทยเทคนิค” เมื่อปี พ.ศ. 2505 ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยกรุงเทพ” และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมพ.ศ. 2527 โดยจัดการเรียนการสอนใน 11 คณะ รวมทั้ง วิทยาลัยนานาชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย ครอบคลุมสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปัจจุบัน เปิดดำเนินการสอน ใน 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท กรุงเทพมหานคร และวิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ เปิดสอน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2514 เข้มข้นด้วยหลักสูตรที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์แห่งการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เน้นการปฏิบัติจริงในศูนย์ปฏิบัติการที่เพียบพร้อมและทันสมัย พร้อมสนับสนุนการ แสดงผลงานระดับนานาชาติ เพื่อสร้าง “นักสื่อสารหัวใจสร้างสรรค์
อันดับ 1 : มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านบริหารธุรกิจ ภาษา และไอที ปัจจุบันเอแบคได้เปิดหลักสูตรในทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลในสาขาวิชาต่างๆมากกว่า 100 หลักสูตรนานาชาติ พร้อมด้วยอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย และสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยที่สวยงามจนเป็นที่กล่าวถึงว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงอยู่ในองค์กรชั้นนำทั่วโลก อีกทั้งเอแบคยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีนักศึกษาต่างชาติและคณาจารย์จากทั่วโลกกว่า 140 ประเทศ
นอกจากนั้น เอแบคยังเป็นหนึ่งใน 18 สถาบันการศึกษาเอกชนชั้นนำของมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยที่ดำเนินการสอนในไทยกว่า 115 ปี ซึ่งเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยเอแบคยังอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยคาทอลิกซึ่งมีสมาชิกกว่า 215 มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก (The International Federation of Catholic Universities: IFCU)
ปัจจุบันมี 4 วิทยาเขต คือ 1.วิทยาเขตหัวหมาก กรุงเทพมหานคร (สอน ป.ตรี-โท-เอก) 2. วิทยาเขตสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ (สอน ป.ตรี-โท) 3. City Campus ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (สอน ป.โท) และ 4.วิทยาเขตสาทร (สอน ป.ตรี)
10 อันดับ มหาวิทยาลัยเอกชน ยอดฮิต ปี 2017 โดย 4ICU.org
ข้อมูลการจัดอันดับ http://www.4icu.org/th/
ภาพประกอบมหาวิทยาลัย : จากอินเตอร์เน็ท
ข้อมูลมหาวิทยาลัย : จากวิกิพีเดีย