นายวิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แต่การคัดเลือกปัจจุบันจะใช้คะแนนสอบเป็นหลัก ขณะที่การอบรมใช้เวลาเพียง 5 วัน และเป็นการอบรมจากจอตู้หรือระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ทำให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในช่วงหลัง บางคนมีลักษณะผิดเพี้ยน มีบุคลิกภาพไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำ ขาดประสบการณ์ โดยปัจจุบันครูอายุ 32- 33 ปี ก็สอบมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ เพราะเน้นใช้คะแนนสอบเป็นหลัก ดังนั้นหากจะมีการปรับจริงก็อยากให้ลงมาดูที่รายละเอียดของกระบวนการคัดเลือกด้วย
“ส่วนตัวไม่ได้ติดขัดในเรื่องครูชำนาญการจะสอบมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา เพราะต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงาน แต่ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น ไม่ใช่ใช้วิธีการสอบอย่างเดียว โดยในส่วนของผมเอง เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน เก็บประสบการณ์บริหารนานถึง 6 ปี กว่าจะมีคุณสมบัติครบสอบขึ้นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น” นายวิสิทธิ์กล่าว
นายธนารัชต์ สมคเณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เขต 1 กทม. กล่าวว่า การทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นเพียงปลายเหตุ ส่วนตัวอยากให้ดูทั้งระบบไล่ตั้งแต่สถาบันผู้ผลิตที่ต้องดูในเรื่องของการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เน้นจิตวิญญาณความเป็นครูให้มากขึ้น ขณะที่คุรุสภาเองก็ควรต้องทบทวนมาตรการในการดูแลวิชาชีพครู ไม่ใช่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพียงอย่างเดียว หรือแม้กระทั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็ต้องทบทวนมาตรการในการกำกับดูแลทั้งครู ผู้อำนวยการโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ส่วนกรณีที่จะทบทวนการใช้ครูชำนาญการสามารถสอบขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้นั้น ประเด็นนี้ตนไม่ติดใจ เพราะทุกคนก็อยากมีความก้าวหน้า แต่ที่อยากให้เน้นคือกระบวนการอบรมสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูที่อยากให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้น่ากังวล โดยเฉพาะใน 1-2 ปีนี้ จะมีครูและผู้บริหารเกษียณอายุราชการหลายพันคน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างครูรุ่นเก่า กับรุ่นใหม่มากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องกลับมาดูว่า จะเข้ามาเสริมในส่วนนี้อย่างไร เพราะหากครูแม้เพียงคนเดียวทำผิด ก็ถือเป็นจุดดำของวิชาชีพที่ต้องเร่งแก้ไข