โพสต์โดย : Admin เมื่อ 22 พ.ย. 2560 08:51:08 น. เข้าชม 166587 ครั้ง
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายรัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จัดประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการรับสมัครสอบคัดเลือกเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเพื่อคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครูชั้นปีที่ 1-5 ปีการศึกษา 2560 โดยจะทำการสอบคัดเลือกนักศึกษาครูทุกชั้นปี จำนวน 26,967 คน จากสถาบันการผลิตจากทั่วประเทศ หรือ เฉลี่ยชั้นปีละ 5,000 คน เพื่อบรรจุเป็นครูผู้ช่วยเมื่อสำเร็จการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) และกรุงเทพมหานคร
นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 2-5 จะต้องมีคุณสมบัติคือ มีเกรดเฉลี่ยแต่ละกลุ่มวิชาคือ วิชาชีพครู วิชาพื้นฐาน และวิชาเอก ไม่ต่ำกว่า 3.00 ยกเว้นชั้นปีที่ 1 จะใช้เกรดเฉลี่ยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าไม่ต่ำกว่า 3.00 เช่นกันและมีภูมิลำเนาของตนเอง หรือของบิดา หรือมารดาอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอัตราที่จะบรรจุ และกำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองของ สกอ. คุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) สามารถมีใบประกอบวิชาชีพครู เมื่อสำเร็จการศึกษา มีผลการสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นกำหนด
คณบดีคณะครุศาสตร์ กล่าวต่อว่า โดยจะดำเนินการรับสมัครและสอบคัดเลือกพร้อมกันใน 3 วิชาคือ จิตวิญญาณความเป็นครู 40% ศักยภาพการใช้ภาษา 30% ทักษะการคิด 30 % ผู้ที่ผ่านการสอบข้อเขียนไม่ต่ำกว่า 60 % จึงจะมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ เกณฑ์การคัดเลือกจะใช้ค่าน้ำหนัก จากการสอบข้อเขียน 70% และการสอบสัมภาษณ์ 30% เริ่มรับสมัครวันที่ 27 พฤศจิกายน – 8 ธันวาคม 2560 สอบข้อเขียน วันที่ 28 มกราคม 2561 สอบสัมภาษณ์ชั้นปีที่ 4-5 วันที่ 5-6 พฤษภาคม ประกาศผลการสอบคัดเลือกภายในเดือนพฤษภาคม 2561 ชั้นปีที่ 1-2 สอบสัมภาษณ์ วันที่ 14-15 กรกฎาคม และประกาศผลการสอบคัดเลือกภายในเดือนกรกฎาคม 2561
นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในปีการศึกษา 2561 โดยการรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 4,156 อัตรานั้น คณะกรรมการฯ ได้จัดสรรอัตราไปยังสถาบันผลิตครู โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรรอัตราให้กับสถาบันต่างๆ คือ หลักสูตรที่จะเปิดรับต้องผ่านการรับรองจาก สกอ. คุรุสภา และก.ค.ศ. พิจารณาจากสถาบันที่มีผลคะแนนในแต่ละสาขาสูงสุดเรียงลำดับโดยใช้คะแนนการประเมินตามระบบการประกันคุณภาพภายในระดับหลักสูตร (กำหนดค่าน้ำหนัก 30%) และคะแนนรวมระดับสถาบัน จากผลการสอบคัดเลือกครูในโครงการฯ(คิดค่าน้ำหนัก 70%) มาคิดรวมกัน และพิจารณาจัดสรรให้สถาบันในแต่ละเครือข่ายตามความต้องการของท้องถิ่น และกำหนดไม่เกิน 7 สาขาต่อสถาบัน ซึ่งมีสถาบันผลิตครูจากทั่วประเทศที่ได้รับการจัดสรรอัตราจำนวน 44 สถาบัน ส่วนการคัดเลือกนักศึกษานั้น สกอ.จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาจากนักเรียนชั้น ม.6 หรือเทียบเท่าที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ มีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 โดยเกณฑ์การคัดเลือกจะนำคะแนน GAT, PAT5 จากการสอบในระบบ TCAS และคะแนนจากการสอบภาคปฏิบัติ(ในบางสาขา)มาคิดเป็นคะแนนรวมในการตัดสินผลการสอบ และเมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษา ก็จะกลับไปบรรจุเป็นครูผู้ช่วยตามภูมิลำเนาเดิมของตัวเองเช่นกัน ทั้งนี้ต้องจบการศึกษาด้วยผลการเรียนเฉลี่ยทุกวิชา ผลการเรียนเฉลี่ยวิชาเอก ผลการเรียนเฉลี่ยวิชาชีพครู ต้องไม่ต่ำกว่า 3.00 ก็จะได้รับการบรรจุทันที โดยบรรจุตามสาขาและสังกัดตามที่ได้สมัคร
นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามจากการที่มีเพียง 44 สถาบันการผลิตครู ที่ได้รับการจัดสรรโควต้า จากจำนวนสถาบันการผลิตครูที่มีอยู่เกือบ 200 แห่ง ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ นำมาใช้มีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจริงหรือไม่ เนื่องจากมีหลายสถาบันที่มีชื่อเสียง รวมทั้งหลายสถาบันที่อยู่ในท้องถิ่นแต่ไม่ได้รับการจัดสรรโควต้า ซึ่งทำให้นักเรียนในท้องถิ่นต้องเดินทางไปเรียนต่างพื้นที่คนละภาค ปัญหาคือหากนักศึกษาต้องฝึกสอนต่างพื้นที่กับที่ที่จะใช้ปฏิบัติงานจริงเมื่อได้รับการบรรจุเป็นครูซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น
นายรัฐกรณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้หากพิจารณาตามหลักการและเหตุผลของโครงการที่จะเน้นพื้นที่เป็นหลัก มุ่งให้สถาบันฝ่ายผลิตครูในพื้นที่ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ปรับบทบาทและวิธีการผลิตและพัฒนาครู เพื่อให้สอดรับกับการปฏิรูปการศึกษา ร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในสถาบันฝ่ายผลิตครูด้วยกันเอง และหน่วยงานผู้ใช้ครูในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการผลิตและพัฒนาครู ร่วมรับผิดชอบต่อผลผลิตของตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการพัฒนาและติดตามเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูเหล่านั้น หากหลายสถาบันในพื้นที่ไม่มีโอกาสเป็นผู้ผลิตครูตามโครงการ สิ่งเหล่าก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน