โพสต์โดย : Admin เมื่อ 6 ก.ย. 2560 16:45:28 น. เข้าชม 166365 ครั้ง
กรรมการอิสระฯเดินหน้าดันโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ย้ำต้องทำความเข้าใจความเป็นอิสระไม่ใช่หลุดจากระบบราชการ ยังต้องมีเกณฑ์กลางอยู่
วันนี้(5ก.ย.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การให้โรงเรียนมีเสรีภาพในการบริหารจัด ในรูปของโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งจะมีความอิสระใน 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการทั่วไป การบริหารงานบุคคล การบริหารการเงิน และการบริหารวิชาการ โดยคณะกรรมการอิสระฯ จะต้องมาพิจารณาหารูปแบบของโรงเรียนนิติบุคคลที่เหมาะสมต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีความเห็นตรงกันว่า ความเป็นนิติบุคคลต้องมีความหลากหลาย คือ โรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ และโรงเรียน ที่มีปัญหาแต่จะใช้ความเป็นอิสระเข้าไปแก้ปัญหา
“สิ่งสำคัญต้องทำความเข้าใจว่า การเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ยังต้องมีเรื่องการกำกับดู การส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียน ไม่ใช่ให้หลุดออกจากระบบไปเลย และไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนจากโรงเรียนรัฐ ไปเป็นเอกชน ไม่ใช่เรื่องการปลดคน หรือปรับบุคลากรของรัฐออกจากระบบราชการ โดยทุกเรื่องยังคงต้องมีเกณฑ์กลาง เช่น หลักสูตรแกนกลาง ยังคงต้องมี แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นแค่เกณฑ์ต่ำ ไม่ใช่เกณฑ์ที่บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องทำ เพราะหากโรงเรียนสามารถทำได้สูงกว่างเกณฑ์ ก็ต้องปล่อยให้ทำได้” ศ.นพ.จรัสกล่าวและว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยปัญหาใหญ่ที่จะต้องเข้าไปแก้ คือ เรื่องคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งต่อไปต้องกระจายอำนาจไปให้ถึงโรงเรียนหรือสถานศึกษา ดังนั้นจะต้องมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้สามารถดำเนินการได้
ศ.นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปครั้งนี้ นอกจากต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุน แล้ว ยังต้องมี พ.ร.บ.ที่ว่าด้วยความเป็นอิสระของสถานศึกษา เพื่อผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้ และเท่าที่ดูคาดว่า เบื้องต้นจะมีโรงเรียนที่มีความพร้อมเป็นนิติบุคคลประมาณ 3,000-4,000 แห่ง ขณะเดียวกันจะมีโรงเรียนที่มีปัญหาและจะใช้ความอิสระมาแก้ไขอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 2 ส่วนนี้แล้วน่าจะไม่ถึง 10,000 แห่ง แต่ที่สุดแล้ว ไม่ใช่ว่า โรงเรียนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศจะเป็นนิติบุคคลทั้งหมด เพราะยังคงต้องมีส่วนหนึ่งที่รัฐยังคงต้องดูแลสนับสนุนอยู่ เช่น โรงเรียนสำหรับคนพิการ โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น ส่วนที่หลายคนกังวลว่า ถ้าโรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงขึ้น เรื่องนี้ ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ เพราะทุกวันนี้ก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่มันอยู่ข้างล่าง การดำเนินการเช่นนี้ก็ เป็นการหยิบขึ้นมาทำให้ถูกต้องและเปิดเผย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 5 กันยายน 2560 เวลา 15.18 น.