โพสต์โดย : Admin เมื่อ 17 ส.ค. 2560 01:48:43 น. เข้าชม 166389 ครั้ง
ก.ค.ศ.เผยครูสนใจยื่นขอวิทยฐานะตามเกณฑ์ใหม่เพียบ!
ครูสนใจยื่นประเมินตามวิทยฐานะใหม่ ก.ค.ศ.เร่งทำคู่มือแนวปฏิบัติ ย้ำยังสามารถใช้สิทธิยื่นเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์เดิมได้ภายใน 1 ปี
อังคารที่ 15 สิงหาคม 2560 เวลา 14.03 น.
วันนี้(15 ส.ค.) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่าตามที่สำนักงานก.ค.ศ. ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะใหม่ อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้เริ่มมีผู้สนใจยื่นขอเข้ารับการประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่เข้ามาบ้างแล้ว ขณะเดียวกันก็มีผู้สอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ สำนักงานก.ค.ศ. จะเร่งจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติในการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติครบ ยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะได้ตามสิทธิ ทั้งนี้เบื้องต้นตัวเลขผู้มีวิทยฐานะชำนาญการมาแล้ว 5 ปี และมีคุณสมบัติครบ ประมาณ 30,000 ราย ซึ่งหากต้องการเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ ก็จะต้องมีการประเมินรวบยอด เพื่อดูรายละเอียด 5 ปีย้อนหลังว่า มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้ที่มีคุณสมบัติครบก็สามารถเลือกขอมีและเลื่อน ตามหลักเกณฑ์เดิมได้ภายใน 1 ปี ตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล
นายพินิจศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินการคงวิทยฐานะ ตามมาตรา 55 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งกำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะ ๆ เพื่อดำรงไว้ ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่ง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ค.ศ.กำหนด แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหลักเกณฑ์และการประเมินให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ยังไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามการประเมินตามหลักเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ที่ประกาศใช้ไปแล้ว ก็ได้มีการกำหนดตัวชี้วัดขั้นต่ำ ที่ผู้มีวิทยฐานะแต่ละระดับจะต้องผ่านการประเมินการทำงานในแต่ละด้านทุกปีอยู่แล้ว จึงเหมือนกับว่า มีการประเมินคงวิทยฐานะไปในตัวอยู่แล้ว
“ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆในการประเมินเพื่อขอคงวิทยฐานะ ให้เป็นไปตามมาตรา 55 นั้น ถึงแม้การประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ จะเหมือนกับมีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ แต่ก็ยอมรับว่า ยังไม่ไปถึงตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย มาตรา 55 ซึ่งจะต้องมากำหนดให้ชัดเจนว่า หากไม่ผ่านการประเมินคงวิทยฐานะจะต้องได้รับการพัฒนา และหากพัฒนาแล้วยังไม่สามารถปรับปรุงได้ ก็ต้องถูกถอดถอนวิทยฐานะ ”นายพินิจศักดิ์ กล่าว
อ่านต่อที่ : เดลินิวส์ อังคารที่ 15 สิงหาคม 2560 เวลา 14.03 น.