โพสต์โดย : Admin เมื่อ 10 พ.ค. 2560 01:58:58 น. เข้าชม 166403 ครั้ง
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 236/2560
การประชุมรายงานความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประจำปี 2560
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง "ศาสตร์พระราชาสู่การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม" ในการประชุมรายงานความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2560 เมื่อวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างโรงเรียนคุณธรรมให้เกิดขึ้น ตามเป้าหมาย 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2560 โดยมีผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนคุณธรรม 111 แห่ง ตลอดจนผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 21 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกว่า 750 คน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า โดยข้อเท็จจริงเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “สถานศึกษา” ย่อมมีคุณธรรมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันเราอยู่ในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ มีความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความเกี่ยวโยงไปถึงด้านสังคม กล่าวคือ มีการใช้สอยเทคโนโลยีไปในทางที่ไม่ถูกต้อง อาทิ การใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิด โพสต์ข้อความให้ร้ายป้ายสีผู้อื่น ส่งผลให้เกิดการกระทำผิดศีลธรรม หลบหลู่ดูหมิ่นแม้บุพการีหรือผู้มีพระคุณ เลยเถิดไปถึงการหลงลืมความเป็นชาติ เอกลักษณ์ความเป็นไทย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคุณธรรมศีลธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ทั้งที่จริงคนไทยทุกคนควรมีความตระหนักและพึงกระทำให้ถูกตามครรลองครองธรรม ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก เยาวชน โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ ผู้บริหาร ที่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี
ในเรื่องของโรงเรียนคุณธรรม เป็นการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนทั้งประเทศเป็นโรงเรียนคุณธรรม โดยครูบาอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นต้นแบบที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานเยาวชน โดยเฉพาะครู เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะต้องสร้างครูให้มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถทางวิทยาการแตกฉาน รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนหรืออาจารย์ใหญ่ ที่มีความเป็นผู้นำที่ดี บริหารจัดการและจัดหาครูได้อย่างเหมาะสมและมีความเพียงพอในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียน ทั้งทางด้านวิชาการ ด้านการปฏิบัติ การสังคม ตลอดจนจริยธรรมจรรยา
นอกจากนี้ ขอให้น้อมนำพระบรมราโชวาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ใส่เกล้าฯ และยึดมั่นปฏิบัติเป็นหลักในการพัฒนาการศึกษาของชาติให้เจริญก้าวหน้า คือการพัฒนาเด็กให้มีพื้นฐานสำคัญ 4 ประการ คือ มีทัศนคติที่ดีต่อชาติบ้านเมือง, มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม, มีงานทำ มีอาชีพสุจริต, เป็นคนดีของชาติบ้านเมือง
ดังนั้น ในช่วงเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป จะผลักดันให้มีการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณธรรมในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นไปตามเป้าหมายกว่า 30,000 แห่ง และในอนาคตจะขยายไปสู่โรงเรียนเอกชน 4,463 แห่ง สถานศึกษาอาชีวะ 428 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,545 แห่ง โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีการนิเทศวาระด้านการศึกษาของหน่วยงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ลงไปตรวจติดตามและหยิบยกวาระการศึกษาเป็นวาระสำคัญในการนิเทศในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องของโรงเรียนคุณธรรม ที่จะเป็นเป้าหมายในการทำงานของผู้บริหารทุกภาคส่วนต่อจากนี้ไป จึงขอย้ำกับครูบาอาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน และผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้มีการปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงใน 2 ส่วน คือ
1) กรอบแนวคิดการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม 5 มาตรการ ได้แก่
ความพอเพียง ที่จะต้องดำรงชีวิตที่พอเพียงตามพระราชดำรัสคำสอนของพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สิ่งสำคัญคือการพอประมาณ ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย รู้จักความพอดี เพราะหากไม่รู้จักพอจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้
ความกตัญญู โดยเฉพาะการกตัญญูต่อบิดามารดา ครูอาจารย์ และพระกรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ไทย ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับธงชาติไทยที่แสดงถึงความเป็นชาติของเรา หรือธงไตรรงค์ ซึ่งมี 3 สี 5 แถบ มีความหมายว่า สีแดงแถบบน หมายถึง ชาติไทย, สีแดงแถบล่าง หมายถึง ชนชาติอื่นที่อยู่ในไทย, สีขาว แถบบน หมายถึง ศาสนาประจำชาติไทย, สีขาวแถบล่าง หมายถึง ศาสนาอื่นในไทย, สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาติไทย มีเพียงหนึ่งเดียว
ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่มีไม่ได้ อีกทั้งการซื่อสัตย์คือการไม่สร้างภาพ ไม่เล่นละครหรือสวมหัวโขน แต่คำพูดหรือการกระทำทุกอย่างควรมาจากใจ
ความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญสัมมาชีพต่อไปในวันข้างหน้า ขอให้ยึดมั่นกฎกติกาในการทำงานอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คงเส้นคงวาในความดี ปากตรงกับใจ และอย่าหลงลืมตัว
การมีอุดมการณ์คุณธรรม อาทิ หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยต้องยึดหลักความยุติธรรม ดังเช่นสุภาษิตไทยที่ว่า "หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก" กล่าวคือ หากหัวดำรงความเที่ยงธรรม ถูกต้อง ซื่อสัตย์ สุจริต มีหรือที่หางหรือลูกแถวจะออกนอกแถวนอกกรอบ แต่ถ้าหัวส่ายจะไปหวังอะไรกับลูกแถว
2) ตัวชี้วัดหลักของโรงเรียนคุณธรรม 7 ประการ ได้แก่ มีกระบวนการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโรงเรียน, มีกลไกคณะทำงานและใช้โครงงานคุณธรรมเป็นเครื่องมือที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม, พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น, พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ในโรงเรียนลดลง, เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา คุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง, มีองค์ความรู้ นวัตกรรม การสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน, เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนคุณธรรม ชื่อยอมรับว่าความสำเร็จในเรื่องนี้จะต้องอาศัยเวลา เพราะเน้นเชิงคุณภาพไม่เน้นปริมาณ
ทั้งนี้ ม.ล.ปนัดดา ได้หยิบยกโคลงสี่สุภาพ “กล้วยไม้” ของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล เพื่อเป็นกำลังใจให้กับครูผู้สร้างและผู้บริหารทุกคน ที่มีส่วนช่วยให้การสร้างอนาคตของชาติเป็นไปด้วยความราบรื่นด้วยความรักสมัครสมาน กล่าวคือ
“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
10/5/2560