โพสต์โดย : Admin เมื่อ 7 มี.ค. 2560 03:48:08 น. เข้าชม 166489 ครั้ง
นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย เปิดเผยว่า กรณีที่นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เผยผลการตรวจกระดาษคำตอบในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปีการศึกษา 2559 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิชาภาษาไทย ซึ่งสอบข้อเขียน หรืออัตนัย เป็นครั้งแรกว่านักเรียนเขียน และใช้คำผิดความหมายค่อนข้างมาก ทั้งการสะกดคำ คำควบกล้ำ การใช้การันต์ รวมถึง การใช้ศัพท์แสลง อาทิ ชิวๆ แซ่บเวอร์ เป็นต้น ในการตอบข้อสอบจำนวนมาก นั้น การที่เด็กใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง จะโทษเด็กเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ถูกต้อง สังคมปัจจุบันเน้นใช้การสื่อสารผ่านสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้เด็กไม่รู้ว่าคำไหนใช้ถูก หรือใช้ผิด ขณะที่โรงเรียน และครู ไม่ได้สอนการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เน้นให้แด็กค้นหาข้อมูล และสื่อสารทางโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นหลัก ทั้งที่โดยหลักการแล้ว เราควรให้เด็กเริ่มเรียนรู้การใช้ภาษาไทย และวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตของเราก่อน จากนั้นค่อยไปสู่การเรียนรู้สังคมอื่น แต่ทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แม้แต่ข้อสอบที่ออกก็ไม่ได้ถามเนื้อหาที่เป็นความรู้ในวิชาภาษาไทย หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง ดังนั้น หากจะแก้ไขเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงต้องปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยครั้งใหญ่
http://www.hongpakkroo.com/722.html
“การแก้ปัญหานี้ ผู้ใหญ่ใน ศธ.ต้องเริ่มขยับก่อน หัวใจสำคัญอยู่ที่ครู และโรงเรียน โดยครูจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้น ทุกอย่างจะเสียไปหมด ซึ่งไม่ใช่แค่การเรียนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเรียนแล้วสอบด้วย เพื่อประเมินว่าเด็กมีความรู้ และสามารถใช้ภาษาไทยกลางได้ถูกต้องอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่แน่ใจว่า ทุกวันนี้ในโรงเรียนยังมีการเรียนการสอนวิชาคัดไทย และเขียนไทยอยู่หรือไม่ หากไม่มีก็อยากให้ฟื้นเรื่องนี้กลับคืนมาในห้องเรียน อยากให้โรงเรียนกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ หากเราไม่ให้ความสำคัญ ทุกอย่างจะแกว่ง และเสียไปหมด” นางกาญจนากล่าว
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดจากคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ทางแก้ควรจะเริ่มต้นที่โรงเรียน ต้องบังคับให้เด็กอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เล่ม แล้วนำเนื้อหามาพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยน คิดวิเคราะห์เนื้อหาร่วมกัน จะทำให้การอ่านหนังสือมีความสนุก ไม่น่าเบื่อ โดยทางโรงเรียน และครู จะต้องคัดกรองหนังสือให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย หากทำได้ตามนี้ เด็กไทยจะอ่านหนังสือได้อย่างน้อยปีละ 50 เล่ม เมื่ออ่านสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะมีความรู้ที่หลากหลาย สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุ มีผล รวมถึง จะส่งผลให้เด็กซึมซับการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ส่งผลให้สามารถเขียนหนังสือ และใช้ภาษาไทยกลาง ได้ถูกต้องไปโดยอัตโนมัติ
“ที่ผ่านมา ผมเคยเสนอเรื่องนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ ศธ.ซึ่งผมคิดว่าไม่ต้องไปทำเรื่องอื่น เพราะไม่มีผลเท่าการส่งเสริมการอ่าน และต่อให้สร้างห้องสมุดมากมายแค่ไหน หากไม่มีเด็กเข้าไปหาหนังสืออ่าน ก็ไม่มีประโยชน์” นายเนาวรัตน์กล่าว
http://www.hongpakkroo.com/723.html
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 6 มี.ค. 60 เวลา: 12:21 น.