โพสต์โดย : Admin เมื่อ 14 พ.ค. 2561 11:52:17 น. เข้าชม 166408 ครั้ง
‘4 แสนครู-ออมสิน’ ใครได้ประโยชน์ จาก ‘เอ็มโอยู’ ฉบับใหม่??
ผู้เขียน จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ
ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และ ธนาคารออมสิน ได้ฤกษ์ลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ฉบับใหม่ เสียที
หลังการเจรจาเกี่ยวกับรายละเอียดของเอ็มโอยูฉบับใหม่ระหว่าง 2 ฝ่าย ยืดเยื้อกันมายาวนานหลายปีกว่าจะได้ข้อยุติ!!
การยกร่างเอ็มโอยูฉบับใหม่เกิดขึ้นภายหลังวิกฤตทุจริตครั้งมโหฬารใน สกสค.และอดีตผู้บริหาร สกสค.นำเงินที่ธนาคารออมสินคืนส่วนต่าง 0.5-1% ให้กับครูที่มีวินัยในการชำระหนี้ ไปใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ โดยที่เพื่อนครูไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
ที่สำคัญ เกิดดราม่ากรณีที่แบงก์ออมสิน ถือ “วิสาสะ” หักเงินจากบัญชีกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการ ช.พ.ค.-ช.พ.ส.เพื่อชำระหนี้แทนครูที่เบี้ยวจ่ายหนี้ติดต่อกัน 3 งวด เป็นเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยไม่แจ้ง สกสค.เนื่องจากบัญชีที่ สกสค.ตั้งเงินสำรองไว้ให้ธนาคารออมสินหักชำระหนี้แทนครู ถูกหักจนเงินเกลี้ยงบัญชี
โดยผู้บริหาร สกสค.นั่งยันนอนยันว่าธนาคารออมสิน ไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีอื่นๆ ของ สกสค.โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ในมุมของธนาคาร ย้ำว่าเนื้อหาสาระของเอ็มโอยูให้ทำได้ และได้แจ้ง สกสค.แล้ว แต่เมื่อถูกถามหาหลักฐาน กลับไม่มีความชัดเจนใดๆ จากผู้บริหารออมสินเลย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดแจ้งในเรื่องนี้ พร้อมกับแก้ปัญหา “หนี้ครู” ทั้งระบบ เอ็มโอยูฉบับเจ้าปัญหาจึงถูก “ยกเลิก” และเดินหน้ายกร่างเอ็มโอยูฉบับใหม่ขึ้น
โดยสาระหลักๆ ของเอ็มโอยูฉบับใหม่ อาทิ ธนาคารออมสินจะโอนเงิน 0.5-1% ที่เดิมโอนเข้าบัญชีกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ซึ่งตกเดือนละ 200 ล้านบาท หรือปีละ 2 พันกว่าล้านบาท มากระจายให้กับครูที่เป็น “ลูกหนี้ชั้นดี” โดยตรง ด้วยการ “ลด” อัตราดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ตั้งแต่ 0.5%, 0.75% และ 1% ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละโครงการ โดยดอกเบี้ยที่คืนให้จะไปลดเงินต้น ทำให้ครูจ่ายหนี้หมดเร็วขึ้น หรือครูที่ต้องการลดงวดเงินผ่อนในแต่ละเดือนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ก็เลือกแนวทางหลังได้
ซึ่งปัจจุบันข้าราชการครูฯ ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารออมสินในโครงการ ช.พ.ค.1-7 มีกว่า 4 แสนราย จำนวน 484,435 บัญชี มูลค่าหนี้รวมกว่า 4 แสนล้านบาท เฉลี่ยเป็นหนี้รายละ 1 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุถึงข้อดีของเอ็มโอยูฉบับใหม่ว่า ข้าราชการครูฯ ที่มีวินัยทางการเงินดี จะได้รับประโยชน์โดยตรงเกือบ 4 แสนราย ครูที่ไม่แน่ใจว่าจะผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด ให้มาเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อปรับโครงสร้างหนี้จนเข้าเกณฑ์ จะได้รับการลดดอกเบี้ยตามเอ็มโอยูฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้มีครูกว่า 80% เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างนี้แล้ว เหลือครูที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เพียง 2-3%
ส่วนปัญหาเดียวที่ยังแก้ไม่ตก คือกรณีออมสินหักเงินกองทุนสนับสนุนพิเศษฯ ซึ่งเป็นเงินที่ส่งคืนให้ครูที่มีวินัยในการชำระหนี้ดี เอาไปใช้หนี้แทนครูที่เบี้ยวหนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ดูเหมือนจะยังหา “ทางออก” ในเรื่องนี้ไม่ได้ และอาจต้องใช้ “กฎหมาย” มาเป็น “ตัวช่วย”
ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมรามือในเรื่องนี้เด็ดขาด และสั่งการให้ สกสค.ไปหาช่องทางที่จะเอาเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท กลับคืนมาให้ได้
ต้องจับตาว่า ข้อพิพาทระหว่าง “สกสค.” และ “ออมสิน” จะลงเอยแบบไหน!!
“ครู” หรือ “ออมสิน” ใครจะได้ประโยชน์จากเอ็มโอยูฉบับใหม่ อย่างแท้จริง??
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2561