โพสต์โดย : Admin เมื่อ 5 พ.ค. 2560 15:49:19 น. เข้าชม 166345 ครั้ง
จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ กรณีการจัดค่ายแนะแนวของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ใช้คำโฆษณาเชิญชวนให้นักเรียนมาเข้าร่วม โดยระบุว่า หากนักเรียนมีเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 2.00 ขึ้นไป และมาร่วมกิจกรรมเข้าค่ายดังกล่าว ในศูนย์กิจกรรมใดก็ได้จากจำนวน 12 ศูนย์ทั่วประเทศ เมื่อจบกิจกรรมจะได้รับประกาศนียบัตร และโควตาพิเศษในการเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการ จนเกิดเป็นกระแสข้อมูลส่งต่อเรื่องดังกล่าวในหมู่วัยรุ่นเป็นจำนวนมาก โดยเสียเงินเพียง 350 บาท และกิจกรรมนี้จำกัดจำนวนที่ 20,000 คนทั่วประเทศเท่านั้น ซึ่งสื่อแสดงความเป็นกังวลว่ากรณีนี้อาจเป็นการหลอกลวงกลุ่มเยาวชน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 พ.ค.2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นายขจร จิตรสุขุมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แถลงข่าวชี้แจง “ค่ายแสงเทียน พรีเทสต์ ไทยแลนด์” ซึ่งเปิดเชิญชวนนักเรียน ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ ทางโซเชียลมีเดีย ให้สมัครเข้าร่วมค่ายแนะแนว เป็นเงิน 350 บาทต่อคน โดยโฆษณาว่ามาร่วมค่าย ได้โควต้า ไม่ต้องสอบ ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน ว่า สกอ.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยสอบถามไปยังประธาน ทปอ. และหน่วยงานสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ซึ่งมีสมาชิกเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 27 แห่ง รวมถึง ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทุกหน่วยงานยืนยันว่าไม่มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมค่ายดังกล่าว และไม่เคยรู้เรื่องมากก่อน ดังนั้น ที่บอกว่าเมื่อนักเรียนทุกคนได้รับโควต้าพิเศษสำหรับนักเรียนแผนการเรียนวิทย์ ศิลป์ เพื่อเข้าศึกษาในแต่ละคณะ รวมกว่า 18 สาขาภายใต้มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม จึงยืนยันไม่เป็นความจริงเพราะมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งไม่เคยเข้าร่วมโครงการนี้
“สำหรับข้อความโฆษณาที่ปรากฎในเว็บไซต์ มีตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยของรัฐต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นต้นนั้น ถือว่าเข้าข่ายมีความผิด เพราะตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัย การนำตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจะผิดกฎหมาย โดย สกอ.จะแจ้งมหาวิทยาลัยไปดำเนินการตรวจสอบ ขณะที่ สกอ.จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเช่นกัน เนื่องจากขณะนี้มีเพียงเอกสาร ข้อความจากเว็บไซต์และคำยืนยันจากมหาวิทยาลัยของรัฐว่าไม่ได้เข้าร่วมค่ายดังกล่าว แต่ยังไม่ทราบว่ามีผู้เสียหายเท่าใด อย่างไร มีนักเรียน นักศึกษาสมัครไปแล้วกี่คน ซึ่งหากใครเป็นผู้เสียหาย สมัครเข้าร่วมค่าย ขอให้ติดต่อมาที่ สกอ.เพื่อช่วยเหลือ และให้คำแนะนำต่อไป เพราะค่ายแสงเทียนมีการดำเนินการเปิดมาหลายปีแล้ว” คองเลขาธิการ กกอ.กล่าว
นายขจร กล่าวด้วยว่า หากการเปิดค่ายดังกล่าวเป็นการแนะแนวการศึกษาต่อ โดยเอาข้อมูลจากมหาวิทยาลัยไปชี้แจงถือว่าไม่ผิด แต่เมื่อมีคำว่าเข้าร่วมค่ายและได้โควต้าที่เรียนทุกคน ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีทางเป็นไปได้ ก็ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงนักเรียน อย่างไรก็ตาม หากมีตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ถ้าเข้าในนามบุคคลก็ต้องไปตรวจสอบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้ามีส่วนเกี่ยวข้องถือว่าผิดวินัย กรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้ตรวจสอบได้เฉพาะ มหาวิทยาลัยของรัฐ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น หากไม่ได้เข้าร่วม ขอให้ออกมาแถลงข่าว หรือออกมาชี้แจงให้นักเรียน ประชาชนได้รับทราบ นักเรียนจะไม่ได้หลงผิดเข้าร่วมค่ายดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของนักเรียนเอง