โพสต์โดย : Admin เมื่อ 23 ก.พ. 2560 03:54:11 น. เข้าชม 166358 ครั้ง
สทศ.ประมวลคำที่เด็กมักเขียนผิด ส่งต่อ สพฐ.พิจารณาปรับปรุงการสอนวิชาภาษาไทย
วันที่ 22 ก.พ.60 รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า จากการจัดสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้น ป.6 และ ม.3 เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดสอบข้อเขียนหรืออัตนัย วิชาภาษาไทย กับนักเรียนชั้น ป.6 ซึ่งจากการตรวจกระดาษคำตอบเบื้องต้น พบว่า นักเรียนเขียนและใช้คำผิดความหมายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำ คำควบกล้ำ การใช้การันต์ เช่น แทรก เขียนผิดเป็น แซก, นะคะ เขียนผิดเป็น นะค่ะ, ซื่อสัตย์ เขียนผิดเป็น ซื่อสัตว์, ภาพยนตร์ เขียนผิดเป็น ภาพยนต์ รวมถึงยังมีการใช้ภาษาวัยรุ่น คำแสลงในการตอบข้อสอบด้วย เช่น ชิวๆ แซ่บเว่อร์ เป็นต้น
ดังนั้น ตนจึงข้อให้กรรมการที่ตรวจข้อสอบรวบรวมคำที่เด็กมักเขียนผิด หรือใช้ผิดความหมาย เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างสำนึกให้แก่เด็กในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เชื่อว่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก และจะทำให้เด็กใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
"ก่อนที่ สทศ.จะออกข้อสอบและจัดสอบอัตนัยวิชาภาษาไทย ป.6 ได้มีการรับฟังความเห็นของครูและผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทำให้ในข้อสอบต้องเขียนคำสั่งให้ชัดเจน ว่าให้นักเรียนเขียนคำตอบตัวบรรจง ครึ่งบรรทัด ด้วยภาษาไทยมาตรฐาน (ภาษาไทยกลาง) เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะข้อสอบนี้เป็นข้อสอบที่ใช้กับเด็กทั่วประเทศหลายแสนคน แต่ในการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนส่วนใหญ่อนุญาตให้เด็กใช้ภาษาถิ่น จนเด็กเกิดความเคยชิน เชื่อว่าจะมีเด็กใช้ภาษาถิ่นในการตอบข้อ ซึ่งก็พบว่า มีจริง ๆ ทำให้ที่เด็กที่ใช้ภาษาถิ่นในการตอบคำถามไม่ได้คะแนน"
ผอ.สทศ.กล่าวและว่า สำหรับแนวทางในการตรวจข้อสอบนั้น สทศ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.), มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) และมหาวิทยาลัยบูรพา(มบ.) เป็นศูนย์ตรวจข้อสอบ และร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ พัฒนาครูผู้สอนวิชาภาษาไทยกว่า 2,800 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจกระดาษคำตอบ โดยคำตอบ 1 ข้อ จะใช้กรรมการผู้ตรวจ 2 คน รวมถึงใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยหาค่ามาตรฐานการตรวจกระดาษคำตอบ
ซึ่งหากพบว่า กระดาษคำตอบใดมีค่าความต่างเกิน 15% จะไม่ยอมรับ และต้องตรวจกระดาษคำตอบใหม่ ส่วนจะจัดสอบอัตนัยวิชาอื่นเพิ่มหรือไม่นั้น คงไม่ใช่ตอนนี้ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาตรวจกระดาษคำตอบแต่ละรายวิชา ที่สำคัญคือช่วงเวลาในการตรวจคำตอบที่มีค่อนข้างจำกัด
ขอบคุณ เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม ขอบคุณที่มาจาก สยามรัฐ 22 กุมภาพันธ์ 2560