โพสต์โดย : Admin เมื่อ 19 พ.ค. 2564 08:28:42 น. เข้าชม 166511 ครั้ง
โดย: รัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย
ผมได้รับการบอกเล่าจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และมีส่วนร่วมในเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้คือ ท่านอาจารย์ ดร.ดิเรก พรสีมา นักการศึกษาคุณภาพมือหนึ่งของประเทศ และอดีตเลขาธิการคุรุสภาว่า
1.เมื่อประมาณปี พ.ศ.2537 (ถ้าผิดพลาดต้องขออภัย ดร.ดิเรกฯ) มีนักการธนาคารและนักการเมืองระดับรัฐมนตรีที่ห่วงใยประเทศชาติ ได้ประชุมปรึกษาหารือกันโดยในขณะนั้น ดร.ดิเรกฯเพิ่งกลับจากการเป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพูดคุยด้วย
2.หัวข้อสนทนาคือ คุณภาพการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ แต่ทำไมประเทศไทยจึงยังล้าหลัง ถ้าเทียบกับประเทศสิงค์โปร์ ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
3.จึงได้มีการศึกษาวิเคราะห์กลุ่มประเทศเหล่านั้นและมองประเทศไทย มีข้อค้นพบว่า
3.1 ประเทศไทยไม่มีกฎหมายการศึกษา มีแต่แผนการศึกษาชาติ ซึ่งถ้านักการเมืองไม่พอใจก็ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษา และทำได้ง่าย คณะบุคคลกลุ่มนี้จึงคิดและวางแนวทางให้มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งนักการเมืองจะเปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจไม่ได้
3.2 ประเทศที่เจริญรุดหน้า ล้วนแล้วแต่มีกฎหมายการศึกษา คัดเลือกจูงใจให้คนเก่งที่สุดมาเป็นครู และให้เงินเดือนหรือผลตอบแทนที่สูงกว่าวิชาชีพใดๆ เพราะถ้าครูเก่ง ก็จะพลอยทำให้เด็กเก่ง
3.3 ได้มีการไปสอบถามความต้องการการเรียนต่อและประกอบอาชีพจากโรงเรียนที่ผลิตเด็กเก่งๆ ออกมาหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนเตรียมอุดม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสตรีวิทยา ฯลฯ และอีกหลายๆ โรงเรียน คำตอบที่ได้รับคือ เด็กเก่งๆ เหล่านั้นล้วนแล้วแต่จะไปเรียนแพทย์ เภสัช วิศวกรรม ไม่มีใครสักคนบอกว่าจะไปเรียน “ครู”
3.4 คณะบุคคลเหล่านั้น จึงมีแนวคิดที่จะให้เด็กเก่งๆ มาเป็นครู แต่ต้องจูงใจด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า
3.5 คณะบุคคลเหล่านั้นได้ขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเรื่องค่าตอบแทนที่สูงกว่า ได้รับคำตอบว่าคงไม่ได้ เพราะเรียนปริญญาตรี 4 ปีเท่ากัน จะรับเงินเดือนราชการและค่าตอบแทนที่สูงกว่ากันได้อย่างไร
3.6 จากข้อมูลทั้งหมด จึงได้ก่อเกิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
3.7 จากข้อ 3.5 จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ครูรุ่นหลังเรียนปริญญาตรี 5 ปี และมีการออก พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ผลตอบแทนค่าวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษอีก 5,600 บาท ที่มี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” นอกเหนือจากเงินประจำตำแหน่ง 5,600 บาท รวมถึง “ผู้บริหารสถานศึกษา/การศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร”
3.8 ผลจากการดำเนินการข้างต้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์นักเรียนที่จบ ม.6 เลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์มากขึ้น คะแนนสอบเข้าของสาขาวิชานี้สูงขึ้น
3.9 นอกจากการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครูในระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว กฎหมายการศึกษาหลายฉบับยังได้บัญญัติเนื้อความสำคัญว่า “วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพชั้นสูง” การบัญญัติเช่นนี้มิได้มีเจตนาเพื่ออวดอ้างตัวเองว่า สูงกว่าใคร
แต่มีเจตนาเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูได้ตระหนักตลอดเวลา ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ คือรับผิดชอบชีวิตทั้งชีวิตของนักเรียน เพราะทุกอาชีพต้องผ่านการสร้างโดยครู ทั้งนั้น และยังต้องรับผิดชอบต่อความมั่นคงของชาติด้านการศึกษาอีกด้วย
ความห่วงใย ถ้ามีการยกเลิก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่เข้าสู่การพิจารณาขณะนี้ ผมยืนยันว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่วังวนเดิมที่คุณภาพการศึกษาลดลง เพราะคนเก่งไม่มาเป็นครู เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาล อาจจะทำให้ค่าตอบแทนวิทยฐานะที่เคยได้รับหายไป เพราะมีการยกเลิก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” มีการยกเลิก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร”
การยกเลิกดังกล่าว ทำให้ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และยังมีการยกเลิกความสำคัญว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ซึ่งจะทำให้ความตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบลดลง และหายไป การทำงานเพียงเพื่อให้หมดเวลาไปวันๆ ก็จะมาแทนที่
เรื่องค่าตอบแทนที่อาจหายไปนี้ ใครเห็นว่าไม่จริง และเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ผมขอท้า Debate ทุกเวที จะนำเสนอด้วยเหตุผลที่ปรากฏในร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์
ด้วยความห่วงใยในอนาคตทางการศึกษาของชาติ และห่วงใยในสวัสดิการและจิตวิญญาณของครูรุ่นน้องที่จะหายไปอย่างแน่นอน...!!
หมายเหตุ- (1) กราบขอบพระคุณท่าน ดร.ดิเรก พรสีมา สำหรับข้อมูลที่มาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (2) กราบขออภัยท่าน ดร.ดิเรก พรสีมา ถ้าข้อมูลที่ผมเขียนที่มาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพี้ยนไปบ้าง ก็เนื่องจากความทรงจำของผม
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)