โพสต์โดย : Admin เมื่อ 29 ม.ค. 2560 13:49:10 น. เข้าชม 166375 ครั้ง
ทำไมอารมณ์และความรู้สึกต่อกรณี”รองอธิบดี”ก่อเรื่องขโมยภาพ เขียนในโรงแรมที่ญี่ปุ่น
จึงทวี “ความร้อนแรง”เป็นอย่างสูง
ถึงกับ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น(คปต.)
ต้องออกโรง “เคลื่อนไหว”
ถึงกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
ต้องออกโรง “เคลื่อนไหว”
แม้ว่าด้วยความพยายามของกระทรวงการต่างประเทศสามารถปกป้อง คุ้มครอง “รองอธิบดี” ท่านนั้นให้พ้นโทษกระทั่งเดินทางกลับประเทศได้อย่างเงียบเชียบ
แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีการลดรา วาศอก กระแสกดดันต่อ”รอง อธิบดี”ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้น
เหมือนกับจะไม่เหลือ”ที่ยืน”ให้แม้แต่น้อย
หากมองจากด้านอันเป็นคุณก็ต้องยอมรับว่า นี่คือความสำเร็จของรัฐบาลในการก่อให้เกิดการต่อต้านพฤติกรรมที่ไม่ดี
นั่นก็คือ จำกัดขอบเขตเรื่องไม่ดีให้เหลือน้อย
ตลอด 2 ปีกว่าภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 การโหมประโคมในเรื่องต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น
ได้ก่อมาตรฐานใหม่ในทางสังคม
ขณะเดียวกัน แม้ด้านหลักของการโหมประโคมเป้าหมายจะพุ่งไปยัง “นักการเมือง” แต่ชาวบ้านก็รู้ว่า นักการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้หากไม่มี “ข้าราชการ”ให้ความร่วมมือ
เป้าหมายจึงค่อยๆขยายไปยัง “ข้าราชการ”
หากศึกษาจากกรณี”ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา”จะเห็นในความรู้สึก
ยิ่งศึกษา”อุทยานราชภักดิ์”ยิ่งแจ่มชัด
หากโยงสายยาวไปยังเที่ยวบิน “อโลฮา ฮาวาย”ซึ่งอึกทึกครึกโครมพร้อมกับไข่ปลาคาเวียร์
ยิ่งทำให้ภาพของ”ข้าราชการ”มีความโดดเด่น
สภาพอันเกิดขึ้นกับ“รองอธิบดี”ได้ก่อให้เกิดภาพเปรียบเทียบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น
เมื่อได้ฟัง”น้ำเสียง”จากภายใน “รัฐบาล”
ไม่ว่าจะเป็นบุคคลระดับ”รองนายกรัฐมนตรี” ไม่ว่าจะเป็นบุคคลระดับ “รัฐมนตรี”
ล้วนออกมา”ปกป้อง” และ “แก้ต่าง”
ยิ่งฟัง “น้ำเสียง”จากเพื่อนข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ ยิ่งทำให้ชาวบ้านเกิดความสงสัย
จึงได้มีการเกาะติด”ข่าว”แทบไม่กะพริบตา
การเคลื่อนไหวของ “รองอธิบดี” ภายหลังเดินทางกลับประเทศจึงมีความสำคัญ
กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการอย่างไร
สถานการณ์อันเกิดขึ้นกับ”รองอธิบดี”จึงเท่ากับเป็นสัญญาณ เตือนไปยัง”ข้าราชการ”ไปยัง”รัฐบาล”