โพสต์โดย : Admin เมื่อ 19 มิ.ย. 2560 15:18:29 น. เข้าชม 166420 ครั้ง
ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์
เคยได้ยินนักการศึกษา 2-3 ท่าน คุยกันว่าเรื่องการอ่านออกเขียนได้กับเรื่องของความรักการอ่านเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ฟังแล้วก็ออกจะขำที่ท่านพูดเป็นแบบสำบัดสำนวน และในขณะเดียวกันก็งงว่าจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร แต่เมื่อนำมาคิดดูก็เห็นว่าน่าจะจริง ถ้าเราพูดถึงสองเรื่องดังกล่าวในประเด็นเดียวกัน คือเรื่องของสาเหตุและวิธีการแก้ไขหรือพัฒนาซึ่งจะเห็นว่าคล้ายกันมาก นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ รวมทั้งไม่รักการอ่านนั้นเกิดจากสังคมและตัวบุคคลเช่นเดียวกัน
คือเริ่มจากตัวเด็กหรือเยาวชนเองที่มีความอ่อนด้อยในเชิงพื้นฐานทางภาษา ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งอาจจะเกิดจากข้อบกพร่องทางกายภาพ เกิดจากพ่อแม่ที่มีการศึกษาน้อย หรือเกิดจากปัญหาครอบครัวที่ด้อยโอกาสจากสาเหตุต่าง ๆ และพอเด็กเข้าเรียน เด็กจะต้องพบบุคคลอีกสองคน คือผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ผู้บริหารจึงต้องเห็นความสำคัญหรือความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวให้มีประ สิทธิภาพ ต้องมีแนวนโยบาย มีแผนงานโครงการซึ่งจะต้องดำเนินการและบริหารจัดการเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าผู้บริหารไม่สนใจในภารกิจดังกล่าวก็คงหวังต่อไปได้ยากว่าเด็กจะมีคุณภาพ
ครูผู้สอนภาษาไทยคือคนสำคัญที่จะต้องมีคุณลักษณะอีกหลายประการเพิ่มเติมจากการมีความรักความปรารถนาดีต่อศิษย์ นอกจากการมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในหลักวิชาภาษาไทยในเชิงของทฤษฎี นั่นคือครูจะต้องเป็นคนละเอียดอ่อน ช่างสังเกต มีความอดทน และมีศิลปะในการจูงใจ และถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เด็กเข้าใจได้ดี ที่สำคัญคือตัวครูเองจะต้องเชื่อมั่นว่าตัวหนังสือภายใต้ปกหนังสือที่เราเปิดออกจะทำให้เรารู้จักโลกหรือมองเห็นโลกทั้งโลกอย่างแน่นอน ถ้าเราอ่านออก เขียนได้ และรักที่จะอ่านจนเป็นกิจนิสัยเหมือนการรับประทานอาหารทุกวัน ครูที่รับภาระเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะต้องอ่าน พูด เขียนอย่างถูกต้องชัดเจนและเป็นตัวอย่างที่ดีได้ด้วย นอกจากจะสอนแบบแจกลูก สะกดคำ และผันเสียงให้เด็กเข้าใจและอ่านเขียนได้แล้ว ยังต้องหากิจกรรมหรือกลวิธีสอนให้เหมาะกับเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
ครูที่สอนให้อ่านออกเขียนได้ กับครูที่สอนให้รักการอ่าน น่าจะทราบว่า ความอยากรู้อยากเห็นและอยากเป็น เป็นลักษณะนิสัยของมนุษย์ (ธรรมดา) ทุกเพศวัย ครูจะต้องใช้ "ความอยาก" ดังกล่าวเป็น "ตัวล่อหรือตัวกระตุ้น" ให้เด็กและเยาวชนได้รับสิ่งที่พึงประสงค์นั้น ๆ คือได้รู้ได้เห็นและได้เป็น ด้วยการอ่าน โดยครูต้องมีวิธีการสอนทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนหลายๆ อย่าง แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละระดับ เช่น อาจจะเป็นการเล่านิทานให้เกิดความเพลิดเพลิน เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ประทับใจ มีการประกวดหรือการแข่งขันการเขียน การอ่าน การคัดลายมือ การอ่านพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ และการอ่านคำเป็นคำตาย และคำควบกล้ำที่ถูกต้องและควรให้กำลังใจ ให้คำชมเชย หรือให้รางวัลเป็นครั้งคราว เมื่อใช้วิธีการสอนและกระบวนการฝึกทักษะในเชิงภาษาจนเด็กและเยาวชนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉานแล้ว ก็อาจจะตั้งโจทย์ที่น่ารู้น่าสนใจให้เด็กรู้จักค้นคว้าอ้างอิงมาเป็นคำตอบ มาแต่งเรื่อง มาเขียนเรียงความจากการอ่าน โดยที่มีความยากง่ายตามวัยหรือระดับ ชั้น อาจจะจัดนิทรรศการหรือจัดค่ายภาษา สอนให้รู้จักการใช้พจนานุกรม นามานุกรม และสารานุกรม จากหนังสือ จากวารสาร นิตยสาร และจากอินเทอร์เน็ต ทั้งของไทยและต่างประเทศโดยพัฒนาให้ห้องสมุดโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ดังที่โรงเรียนต่าง ๆ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว และห้องสมุดหลายแห่งก็เป็นแบบอย่างได้ เช่น ห้องสมุดของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เป็นต้น แม้แต่การคัดหรือเขียนอักษรไทยที่ถูกต้องก็ควรสอนเพราะอักษรไทยเป็นอักษรที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองซึ่งมีเส้นตรง เส้นโค้ง หรือวงกลม แต่ไม่หักเหลี่ยมหักมุมหรือมีลักษณะอ่านยากเหมือน "ลายสือไท" สมัยเมื่อเกือบพันปีมาแล้ว
วิธีการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยแบบเรียนเร็วใหม่ ที่คนรุ่นเก่าใช้กันมาอย่างได้ผล ซึ่งจะถูกนำมาปัดฝุ่นใช้ให้ทั่วกันนั้น อาจจะเติมแต่งสีสันให้น่าเรียนน่าสนใจเพิ่มขึ้นได้อีกมากมาย
ข้อสำคัญอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเด็กและเยาวชนอ่านออกเขียนได้และรักการอ่าน แล้ว ครูควรจะแนะนำให้เขา "อ่านเป็น" ด้วย นั่นก็คือต้องรู้จักคัดสรรและเสพสื่อที่มีประโยชน์ มีคุณภาพ มีเนื้อหาตรงกับวัตถุประสงค์ในการค้นคว้า ต้องอ่านเร็ว สามารถเก็บประเด็นสำคัญของเนื้อหาและรู้จักวิพากษ์ วิเคราะห์สิ่งที่เห็นว่ามีคุณภาพแล้วนำสิ่งที่มีคุณภาพนั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ซึ่งในขณะเดียวกันผู้ผลิตสื่อก็ควรคำนึงถึงการผลิตสื่อที่มีคุณภาพว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน
เมื่อพิจารณาจากที่กล่าวมาแล้วก็อาจจะกล่าวได้ว่า กระบวนการทำให้เด็กและเยาวชนอ่านออกเขียนได้ รักการอ่านและอ่านเป็นนั้นเป็นคนละเรื่อง แต่มีปัญหา หรือสาเหตุ รวมทั้งวิธีการและการพัฒนาให้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นเรื่องเดียวกันหรือใกล้เคียงเกี่ยวเนื่องกัน แต่จะว่าไปแล้วการสอนให้อ่านออกเขียนได้นั้นดูจะยากกว่าการทำให้รักการอ่าน เพราะการทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสนใจหรืออยากอ่านนั้น จะต้องใช้วิธีการหรือองค์ประกอบหลายต่อหลายอย่าง เพราะฉะนั้นการที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เรื่องอ่านออกเขียนได้หรือการรักการอ่านเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนนั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก
แต่คงจะดียิ่งขึ้น ถ้าทำให้เป็นวาระประจำชาติเสียเลย เพราะเราได้แก้ปัญหาเรื่องนี้มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะไปโทษใครหรือสิ่งใดโดยตรงก็โทษยาก เพราะตราบใดที่ยังมีการเกิดของประชากร และมีตัวเลขของครอบครัวซึ่งด้อยโอกาสทางการศึกษาอยู่อีกไม่น้อย ในบริบทของสังคมปัจจุบัน ตัวเลขของคนอ่านหนังสือไม่ออกและไม่รักการอ่านก็คงยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นทั้งองค์กรที่รับผิดชอบ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนซึ่งประสบความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวแล้วหลายโรงก็น่าจะช่วยเป็นต้นแบบให้ รวมทั้งทุกคนในสังคมนั่นแหละ ที่จะต้องช่วยกันทำให้ปัญหาเรื่องนี้ลดน้อยลง โปรดคิดดูเถิดว่าถ้ามีแต่เด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กับผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบอ่านเป็นจำนวนมาก แล้วเราจะพัฒนาการศึกษาหรือบ้านเมืองเราได้อย่างไร.